Safety Tips – Sharing experience from being hit by a taxi from behind while cycling 141123 054910 แชร์ประสบการณ์ ถูกแท็กซี่ชนจากข้างหลังขณะปั่นจักรยาน

Safety Tips – Sharing experience from being hit by a taxi from behind while cycling 141123 054910

แชร์ประสบการณ์ ถูกแท็กซี่ชนจากข้างหลังขณะปั่นจักรยาน

 

ตอนแรกที่ทำ blog นี้ขึ้นมา ว่าจะแชร์ประสบการณ์การวิ่ง full marathon (ระยะทาง 42.195 กม.) ครั้งแรกในชีวิตเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2557 (2 สัปดาห์ก่อนอายุครบ 55) ว่าเตรียมตัวอย่างไร ตอนวิ่งเป็นอย่างไรบ้าง เผื่อว่านักวิ่งที่ยังไม่เคยวิ่งมาราธอนจะได้ประโยชน์ในการเตรียมตัว ก็เลยตั้ง subtitle ของ blog ไว้ว่า Courage to Start ซึ่งมาจากชื่อหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจให้กล้าลงวิ่งมาราธอนทั้งๆ ที่อายุก็เกิน 50 ไปพอควรแล้ว

 

แต่แล้ว

 

อาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน 2557 เวลา 05:49:10 น.

 

สัปดาห์หลังจากวิ่งมาราธอนสำเร็จครั้งแรกในชีวิต

 

ขณะกำลังปั่นจักรยานมาดีๆ

ผมถูกรถแท็กซี่ชนจากข้างหลัง !!!

 

เลยจำเป็นต้องพักเรื่องเขียนเกี่ยวกับเรื่องวิ่งเอาไว้ก่อน แล้วมาเขียนเรื่องจักรยานแทน

 

ดูจาก clip นี้ได้นะครับ ว่าผมถูกเขาชนอย่างไร

 

http://youtu.be/pbTv9lhWI4o

 

 

เช้าวันนั้น ผมนัดกับ น้องที่ทำงานไว้ โมงเช้าที่บริษัท เพื่อไปปั่นสำรวจเส้นทางเพื่อความปลอดภัยสำหรับงาน “5 ธันวา ปั่นถวายพระพร ซึ่งชมรมจักรยานนัดกันปั่นไปมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อไปถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 
 

เรานัดกัน คน

ผมกับเพื่อนสนิท ที่เรียนประถม ถึง ม.ศ. 5 (สมัยนี้คือ ม. ครับ) มาด้วยกัน เขาเป็นหมอสูติ บ้านอยู่ใกล้ๆ กันกับบ้านผม และ เพื่อนของหมออีกคนที่จะขับรถมาเจอกันที่บริษัท เหมือนกันน้องคนนั้น แล้วจะได้ปั่นจากบริษัทไปสำรวจเส้นทางด้วยกัน คน

 
 

ผมกับหมอ มาเจอกันแถวกระทรวงการคลังราว 05:45 น. แล้วก็ปั่นมาด้วยกัน คน ผมนำหน้า เขาตามหลังผมราว 1-2 เมตร บนถนนพระราม มุ่งหน้าจากสี่แยกตึกชัยไปสี่แยกประดิพัทธ์ จุดเกิดเหตุคือระหว่างร้านอาหาร T. House กับ อาคาร Tipco

 

 


 
 

ผมปั่นอยู่เลนซ้าย แต่ไม่ได้ชิดซ้ายสุด ประมาณขอบเส้นประของเลนซ้ายกับเลนกลาง ปกติผมจะปั่นชิดซ้ายเกือบติดฟุตปาธ แต่วันนั้น มีรถเครนจอดอยู่หน้าอาคาร Tipco ซึ่งเปิดไฟรถเครนสว่าง มีโคนสีส้มตั้งอยู่รอบรถเครน เพื่อให้คนเห็นชัด ตอนนั้นยังไม่สว่างดี แต่ไฟถนนก็สว่าง เนื่องจากผมเห็นว่ามีรถเครนจอดบังเลนซ้ายทั้งเลน ผมจึงปั่นประมาณเส้นประที่ว่า เพื่อว่าเมื่อใกล้ถึงรถเครน จะได้มองกระจกหลัง (ที่ติดไว้ที่แฮนด์ด้านขวา) ก่อน แล้วจึงเบี่ยงออกขวาได้
ก่อนถึงจุดเกิดเหตุ ก็มีรถแซงไปตามปกติ ทั้งเลนกลางและเลนขวา

 





 
 

ถ้าได้อ่าน blog ผมเรื่อง safety tips ปั่นจักรยานในเมือง

 

https://kidakorn.com/2014/12/12/safety-tips-biking-in-the-city-%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/

 

 หรือ คนที่รู้จักผมดี ก็จะทราบว่าผม ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ ไม่ว่าวิ่งหรือปั่นจักรยาน

 

เรื่อง หมวกกันน็อค ถุงมือ แว่นตา
ไม่ต้องพูดถึง ผมใส่ทุกครั้งที่ปั่นจักรยาน ไม่ว่าใกล้ไกลแค่ไหนก็นาม

 

นอกจากนั้น จักรยานผมมีทั้งแถบสะท้อนแสงตะเกียบคู่หน้า กระเป๋าใต้อานมีแถบสะท้อนแสง ตะเกียบหลังติดสติ๊กเกอร์สะท้อนแสง วงยางมีแถบสะท้อนแสงโดยรอบ เปิดไฟทั้งหน้าหลัง มีไฟหน้าติดแฮนด์ ซึ่งเป็นแบบสว่างตลอดและกระพริบถี่ๆ 3 ครั้งติดกัน ส่องลงพื้นข้างหน้าประมาณ 2-3 เมตร (ไม่แนะนำให้เปิดไฟหน้ากระพริบเวลากลางคืนนะครับ ทำให้เราเวียนหัว วัตถุประสงค์ของไฟหน้าคือให้เราเห็นทาง ซึ่งรถที่สวนเราก็เห็นด้วย รถข้างหน้าก็เห็นเราจากกระจกมองหลัง ไฟหน้ากระพริบใช้เฉพาะกลางวันเท่านั้นเพื่อให้รถสวนเห็นเรา หรือ รถข้างหน้าเห็นเราจากกระจกมองหลัง ส่วนไฟหลังวัตถุประสงค์หลักคือให้คนอื่นเห็นเรา)

ในรูปกล่องด้านหลัง จะเห็นว่า ไฟกระพริบที่เรียก DAYLIGHTNING นั้นให้ใช้กลางวันเท่านนั้น CAUTION: For daytime use only.

 

 



 

 

ด้านหลังผมเปิดไฟกระพริบสีแดงที่ตะเกียบหลังด้านขวา ด้านบนสุดของหมวกมีไฟกระพริบด้านหลังสีแดง ด้านหน้ากระพริบสีขาว ส่องไปไกลกว่าอันที่ติดแฮนด์

 



ใส่ถุงมือขาว ใส่ปลอกแขนสีขาวซึ่งมีโลโก้สะท้อนแสง ใส่เสื้อจักรยานสีขาว ซึ่งด้านหลังก็มีแถบสะท้อนแสงเช่นกัน4]

ด้านขวาที่มีรอยเปื้อนดำ คือตอนที่ไถลไปกับพื้นหลังถูกชน

 



 

 

แล้วยังใส่ผ้า buff ที่คอซึ่งก็มีแถบสะท้านแสงหน้า-หลัง


 

ประมาณว่าไม่เห็นก็ให้มันรู้ไป

 

อ่านตอนหลังจะทราบว่า คนขับแท็กซี่พี่แกบอกไม่เห็น(ว่ะ)

 

ส่วนเพื่อนผมก็จัดเต็มครบชุด มีไฟหน้าสีขาว มีไฟกระพริบสีแดงด้านหลัง มีกระเป๋าคาดเอวซึ่งด้านหลังมีแถบสะท้อนแสงขนาดใหญ่ เพื่อนผมบอกเราสองคนไฟอย่างกับต้นคริสต์มาส เห็นชัดเจนแต่ไกล

 
 

พอถึงจุดเกิดเหตุ ด้านหน้าผม ในเลนซ้ายสุด ไม่มีรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ปั่นอยู่ดีๆ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว รู้แต่ว่าโดนกระแทกแล้วก็ล้ม ลื่นไถลไป
ไม่ตกใจครับ แต่งงๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น รถอะไรมาชนเราได้อย่างไร รู้แต่ว่าเห็นชิ้นส่วนสีชมพูของกรอบกระจกมองข้างของรถกลิ้งอยู่ใกล้ๆ กับจักรยานที่กลิ้งไปข้างหน้าและไปกระแทกกับฟุตปาธ

 
 

วันผ่านไปหลังจากวันเกิดเหตุ ผมเข้าใจมาตลอดว่าคงโดยกระจกข้างของแท็กซีเกี่ยวแฮนด์ผมกระตุกจักรยานไปข้างหน้าแล้วผมหงายท้องลงไป หลังและก้นกระแทกพื้นและไถลไป จากที่ 2-3 วันหลังเกิดเหตุ ผมมีอาการเจ็บเคล็ดขัดยอกที่หลัง รวมทั้งดูจากรอยดำเปื้อนด้านหลังส่วนล่างๆ ของเสื้อ 

 

ส่วนเพื่อนที่ปั่นตามมา เล่าให้ฟังว่า เห็นแท็กซี่อยู่ๆ ก็เบี่ยงแถอย่างเร็วมาชนผม ยังไม่ทันจะได้ตะโกนเตือน ผมก็โดนชนไปแล้ว

 
 

5 วันหลังเกิดเหตุ จึงได้เทปวงจรปิดจากหน้าอาคาร Tipco ที่ท่านผู้บริหารของ Tipco ได้กรุณาให้เจ้าหน้าที่ copy ให้ จากที่ผมขอไปทางผู้ใหญ่ที่ผมนับถือท่านหนึ่ง เมื่อดูจาก CCTV จึงทราบว่า

 

แท็กซี่มาจากข้างหลังและเบี่ยงซ้ายดื้อๆ มาชนผมแบบเบียดๆ ผม

เหมือนเขากำลังเปลี่ยนเลนจากกลางมาซ้าย

 
 

นี่คือสาเหตุที่ในสัปดาห์แรกผมถึงเจ็บตรงสะโพกขวาด้วย สรุปว่ากระจกมองข้างของแท็กซี่ชนผมตรงสะโพกขวา
และผมไม่ได้ร่วงลงมาไถลไปเฉยๆ อย่างที่จำได้

 

ราวสัปดาห์เศษๆ ก็ได้ CCTV จาก กทม. มาอีกมุมกล้องหนึ่ง จึงเห็นได้ชัดเจนว่า แท็กซี่เขามาเร็วขนาดไหน
และผมไถลไปราว
4-5 เมตร ก่อนที่จะกลิ้ง 2 ตลบ

 

ยังโชคดีที่สันชาตญาณเก่าคงพอมีอยู่บ้าง เพราะตอนกลิ้งเก็บคอ (ก้มคอ) ไว้ตลอด แต่ถึงกระนั้น คอก็ยังถูกกระทบกระเทือนจนออกอาการที่นิ้วอยู่ดี

 

อีกอย่างที่เพิ่งเห็นเมื่อตอนได้ CCTV มา คือ ชายชุดดำที่เดินไปเดินมาอยู่บนถนนเลนซ้าย ตรงหน้าป้ายรถเมล์ ไม่ทราบว่ารอรถเมล์ หรือ รอเรียกแท็กซี่หรือมอเตอร์ไซค์ เลยจุดเกิดเหตุนิดเดียว ตอนที่ผมปั่นอยู่นั้นผมไม่เห็น ชายชุดดำคนนั้น คงเพราะกำลังโฟกัสอยู่ที่รถเครนข้างหน้า และ เตรียมที่จะมองหลังเพื่อจะเบี่ยงออกเลนกลาง แต่โดนชนซะก่อน ดูเหตุการณ์ประกอบกันจาก CCTV แล้ว พอจะสันนิษฐานได้ว่า คนขับแท็กซี่คนเห็น ชายชุดดำคนนั้นแล้วก็เลยรีบหักเบี่ยงซ้ายเพื่อโฉบไปรับผู้ที่คาดว่าจะเป็นผู้โดยสาร ลักษณะการที่แท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์ โฉบไปหาผู้โดยสารเนี่ย เชื่อว่าท่านก็คงได้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง ปกติเวลาผมปั่นจักรยาน ก็จะระมัดระวังตัวเป็นพิเศษอยู่แล้ว เมื่อเห็นเขาแซงเราไปแล้วเบี่ยงซ้าย แต่ที่เคยประสบมาอย่างมากเขาก็ปาดหน้าเราไปรับผู้โดยสาร ไม่ใช่ปาดมาชนเราแบบนี้

 
 

แว๊บแรกหลังจากล้ม เจ็บหลังมาก แต่ก็พยายามค่อยๆ ลุกและไปนั่งพิงตรงฟุตปาธ เพื่อหลบรถราคันอื่นๆ ที่อาจตามมาชนซ้ำเอาได้ ส่วนเพื่อนก็หักหลบไปทางซ้ายและจอดจักรยานเขาไว้แล้ววิ่งมาหาผม ผมยังมีสติบ้างเนื่องจากยังไม่รู้สึกเจ็บอะไรมาก ไม่ได้หมดสติ และเขาเป็นหมอ ดูอาการผมแล้วพอไหว

 

ข้างล่างนี้ก็จะขอลำดับเหตุการณ์ พร้อมทั้งบทเรียนที่ขอแบ่งปันให้ท่านผู้อ่าน เพื่อความปลอดภัย ซึ่งไม่เพียงแต่สำหรับนักปั่นจักรยานเท่านั้น หลายๆ ข้อสามารถนำไปพิจาณาได้ไม่ว่านักวิ่ง หรือ นักเดินทาง

 
 

Lesson #1

 

ผมเลยบอกเพื่อนช่วย ถ่ายรูปทะเบียนแท็กซี่ ไว้ก่อนเป็นหลักฐาน

และมีรถเก๋งสีขาวหนุ่มสาวนั่งมาคู่หนึ่งหลังแท็กซี เขารีบจอดเปิดประตูมาช่วยผม และ บอกอย่ารีบลุก
เพราะไม่แน่ว่ากระดูกสันหลัง หรือ กระดูกอื่นหักหรือไม่ เขาดีมากๆ

 
 

Lesson #2

 

ผมให้เพื่อนขอ เบอร์โทรศัพท์ และ ชื่อ เขาไว้ อันนี้นำไปใช้ได้นะครับ เวลาเกิดอุบัติเหตุใดๆ ก็ตาม หาพยานไว้ก่อนครับ เผื่อเรื่องคดีความยาวภายหลัง

คนขับรถเครน ก็มาช่วยขวางแท็กซี่ไว้ คงกลัวคนขับหนี ทราบภายหลังว่าคนขับรถเครนพี่แกเป็นนักปั่นจักรยานเหมือนกัน

 
 

พอพากันเดินมาหาผม ผมถามคนขับแท็กซี่ว่ามาชนผมได้ไง เขาบอก ไม่เห็น ผมละงง

สันนิษฐานได้ 3-4 อย่าง

คงขับกะดึกมาทั้งคืน, หมดฤทธิ์ยา
หรือ หลับใน
หรือ มองหาผู้โดยสาร

เมื่อดูคลิป เพิ่งเห็นว่ามีคนเดินไปเดินมาอยู่เลนซ้าย ถ้าจะว่าเขามุ่งไปรับผู้โดยสารดูจากทิศทางแล้วถ้าแท็กซีไม่ชนผม ก็ชนคนนั้น หรือ เลยไปชนรถเครน

 

คนขับแท็กซี่คนนี้ไม่มีใบขับขี่ครับ มีแต่บัตรประชาชน อ้างว่าใบขับขี่ถูกตำรวจยึด แต่ก็ไม่ปรากฎว่ามีใบแทนใบขับขี่

 

และ เขาพูดจาแทบไม่ค่อยจะรู้เรื่อง
แต่ก็ไม่ถึงกับเหมือนเมา

แต่พูดไม่ค่อยจะรู้เรื่องจริงๆ อธิบายไม่ถูก

สภาพหน้าตาคนขับ ตอนตามไปเจรจาเรื่องประกันที่โรงพยาบาล ราว 4-5 ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ
เพราะเขาสับสน พูดไม่ค่อยจะเข้าใจ หลงไป รพ.วิชัยยุทธคนละตึกกัน

หน้าตาเป็นอย่างนี้แหละครับ

 

 



 

เพื่อความไม่ประมาท ผมต้องไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจเช็คว่าบาดเจ็บที่ไหนบ้าง

จึงโทรให้ภรรยาเอารถมารับ เพื่อจะได้เก็บจักรยานขึ้นรถ โทร บอกน้องกับเพื่อนที่นัดไปเจอกันที่บริษัท ว่าเกิดอุบัตุเหตุ ด้วยความเป็นห่วง น้องเขาเลยตามไปที่ รพ.
ส่วนเพื่อนของหมอ ขับรถมาที่เกิดเหตุ

 
 

Lesson #3

 

ไม่ควรปั่นคนเดียว เกิดเหตุไม่มีใครช่วย เวลาต้องไป รพ. ไม่รู้จะเอาจักรยานไปไว้ไหน 😉

จริงๆ แล้ว จะได้มี buddy นะครับ ช่วยเหลือกันได้

พอเก็บจักรยานขึ้นรถ ภรรยาก็ขับพาผมมาที่โรงพยาบาล

เพื่อนอีกคนก็ขับรถจากบริษัท มารับหมอเพื่อนผมเพื่อเก็บจักรยานเขาแล้วไปแจ้งความด้วยกัน

 
 

Lesson #4

 

ควรเขียนชื่อ นามสกุล เบอร์ฉุกเฉิน หมู่เลือด แพ้ยา ยาที่กินประจำ โรคประจำตัว รายละเอียดต่างๆ ติดตัวเราไว้ด้วย
เผื่อเราหมดสติ เขาจะได้ช่วยเราได้

ตัวอย่างบัตรแบบนี้ Emergency Medical Identification
นำไปปรับใช้ได้ครับ เหมาะกันนักวิ่ง นักปั่นจักรยาน คนที่เดินทางบ่อยๆ หรือ แม้แต่ติดตัวไว้ตลอดเวลาก็ดี ถ้ามีเด็กๆ ลูกหลาน ทำบัตรแบบนี้ติดตัวเด็กๆ ไว้ด้วยจะดีมาก

 


 


 

 
 

ในระหว่างที่ยังไม่ได้ไปโรงพยาบาล

คนขับแท็กซี่ที่ว่าพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง พยายาม โทรหาเถ้าแก่ โทรหาประกันก็ไม่สำเร็จ

 
 

Lesson #5

 

เพื่อนผมเลยขอบัตรประชาชนเขาไว้ ถ่ายรูปบัตรประชาชนไว้ และ ไปแจ้งความ
สน.บางซื่อ
 ให้แท็กซีขับตามไป ในขณะที่ภรรยาผมขับรถพาผมไป รพ.วิชัยยุทธ

 


 
 

Lesson #6

 

เข้าห้องฉุกเฉิน หมอสำรวจทีละอย่าง รู้สึกเจ็บหลังอย่างเดียว นอนยกขาซ้ายขวาได้ ไม่สลบ หัวไม่ฟาดพื้น มีสติตลอด จึงส่งไป x-ray หลัง เพื่อให้แน่ใจว่ากระดูกไม่หัก ผล OK

 
 

ราว 8 โมง หมอฉีดยาแก้ปวดและคลายกล้ามเนื้อ เข้าสะโพก ที่ไม่ฉีดเข้าเส้นเพราะผมแพ้ยาหลายอย่าง การฉีดเข้ากล้ามอันตรายน้อยกว่าเข้าเส้นหากแพ้ยา

 
 

ราว 9 โมง เริ่มเจ็บขาขวา ยกขาขวาไม่ขึ้น ทีแรกนึกว่าเจ็บขาหนีบหลังจากวิ่งมาราธานมาได้สัปดาห์นึง

จริงๆ แล้วคงเพราะถูกชนด้านขวา จึงไป x-ray ขาและสะโพกขวาเพิ่ม ผล OK

 
 

อันนี้หมอบอก มันจะค่อยๆ ระบมทีละอย่าง อะไรหนักสุดจะเกิดอาการก่อน คือ หลัง แล้ว ค่อยมา ขา

 
 

ออกจาก รพ ราว 11 โมง ก่อนออก หมอให้ใบมาสำรวจอาการทางสมองด้วย
เผื่อยังไม่ออกอาการทันที

 

 


 

 

กว่าแท็กซี เถ้าแก่ กับ ประกันจะมา ก็เกือบ 11 โมงแหละ ให้เขาเคลียร์ค่าใช้จ่ายกับ รพ.

 
 

Lesson # 7

 

ถ้ามีบัตรประกัน
พกติดตัวไปด้วย
 เผื่อจำเป็นต้องจ่าย รพ. ก่อน ปกติผมพกบัตรประกันของบริษัทติดตัว แต่เวลาปั่นจักรยานดันไม่ได้เอาไป เอาไปแต่เงินเล็กน้อยกับบัตรเซเว่นไว้ซื้อน้ำ

 
 

Lesson #8

 

ระหว่างอยู่โรงพยาบาล ผมพยายาม post Facebook เป็นระยะ
เพื่อเป็นการบันทึกหลักฐานในที่สาธารณเอาไว้ก่อน

ไม่งั้นผ่านๆ ไป เดี๋ยวก็ลืม จำเหตุการณ์ไม่ได้

 
 

นอนอยู่บ้าน 3 วัน อาทิตย์ จันทร์ อังคาร เพราะหมอให้พยายามนอนหงายไว้ อย่านั่งนานเพราะการนั่งเป็นการทารุณหลัง และ เคลื่อนไหวน้อยๆ

ห้ามออกกำลังกาย 1 อาทิตย์ อันนึ้ตลกดีครับ ปกติเราจะได้ยินหมอสั่งให้ออกกำลังกาย งานนี้หมอสั่งห้ามออกกำลังกาย 

 
 

อาการบาดเจ็บตอนนั้นคือ หลังยอก เจ็บโคนขาขวานิดหน่อย นิ้วนางและนิ้วก้อยขวายังชาๆ อยู่บ้าง ตรงคอมีรอยแดงจิ๊ดนึง คงเพราะซิบหน้าของเสื้อจักรยาน และขอโทษครับ แก้มก้นขวามีรอยขีดราว 1 ซม. เลือดไม่ไหล คงตรงที่โดยกระจกมองข้างซ้ายของแท็กซี่ฟาดเอา

 
 

นอกจากนั้น amazing ครับ ไม่มีแผลถลอกปอกเปิกทั้งๆ ที่กลิ้งและไถลไปกับถนนอย่างนั้น ไม่รู้โชค หรือ หนา!

 
 

แต่เข้าใจว่า ปลอกแขน (อย่างดี) คงช่วยไว้ได้บ้าง เพราะปลอกแขนขวามีรอยดำจากพื้นถนน

 

วันนั้นก็โชคดี เพราะใส่กางเกงจักรยาน Mountain bike คือ เป็นกางเกง 2 ชั้น ชั้นในแบบแนบเนื้อและมี chamois ที่เป้า ชั้นนอกเหมือนขาสั้นแต่เป็นผ้าหนาคล้ายๆ ผ้าใบ สำหรับลุยป่า คงช่วยรักษาบั้นท้ายไว้ได้ไม่ให้ถลอกปอกเปิกเช่นกัน แต่มีรอยครูดที่กางเกงแต่ไม่ถึงกับขาด
ในรูปจะเห็นเป็นสีชมพู นั่นแหละคือสีแท็กซี่ คงมาจากกระจกมองข้าง

 



 
 

ผมลอง search net ต่างประเทศดู เขาว่าจักรยานถูกรถชนได้หลายแบบ แบบที่โดนชนจากข้างหลังเนี่ยมีประมาณ 3.8% และ มักเกิดกับนักปั่นที่ไม่มีไฟท้าย/ไม่มีสะท้อนแสง ผมก็ว่าผมมีครบแล้วนา คงเพราะ กรรมเก่า หรือไม่ก็ ฟาดเคราะห์ หรือ ซวย ครับ เลยไปอยู่ใน น้อยกว่า 3.8% ซะอีก แต่สถิติประเทศไทยอาจต่างกันเพราะมีปัจจัยจากคนขับประเภทนี้ด้วย

 
 

Lesson #9 CCTV

 

มองหา CCTV ละแวกนั้นไว้ มักมีของ กทม. หรือ ของเอกชน ถ้าเป็นของ กทม. ก็ถ่ายรูปจดหมายเลขไว้ สามารถไปขอสำเนาได้
เพื่อเป็นหลักฐาน

 




 

Selfie ตัวเองไว้ ตอนนอนรอก่อนไป X-ray ลืมถอดแว่นจักรยาน

ออกจาก รพ. ราวๆ เที่ยง ไปพักที่บ้าน

 



 

หลังเกิดเหตุสัปดาห์นึง ปรากฎว่า อาการชาที่นิ้วนางและนิ้วก้อยขวา
เป็นมากขึ้น เลยกลับไปหาหมออีกครั้ง หมอให้
X-ray คอและแขน พบว่า กระดูกคอระหว่างข้อที่ 5 และ 6 ค่อนข้างแคบ เกิดจากเสื่อมหรือเคยอุบัติเหตุมาก่อน แต่ไม่เคยมีอาการผิดปกติ พอมาถูกชนครั้งนี้ แรงกระทบกระเทือนทำให้อาการหนักขึ้น เส้นประสาทเดินไม่สะดวก จึงมีอาการชา ต้องทำกายภาพบำบัด ด้วยการดึงคอ ครั้งละ 20 นาที 2 ครั้ง ต่อ สัปดาห์

 



 

 

หมอบอกว่า อย่างน้อยอีก 3 เดือน จึงจะดีขึ้น ในระหว่างนี้ ให้งดปั่นจักรยานในที่ขรุขระ ให้ปั่นแต่ทางเรียบๆ เป็นอันว่าหมดสิทธิ์นำ mountain bike ไปลุย single track และ งดวิ่งเร็ว อย่าเร็วกว่า 7 นาที/กม. เลยมีข้ออ้างเลย ว่า วิ่งเร็วไม่ได้นะครับ หมอห้าม แต่จริงๆ แล้ว ปกติก็วิ่งได้อย่างเร็วก็แค่นี้แหละ

 

เร็วๆ นี้ มีประกาศเกี่ยวกับการปั่นจักรยาน และ bike lane ควรปฏิบัติตามนะครับ

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/E/262/16.PDF

 

 



 



 

ถึงตอนนี้ 26 ธ.ค. 57 อาการที่หลังและขาปกติแล้ว ก็เหลือแต่นิ้วชาอย่างที่ว่า กลับไปปั่นจักรยานได้แล้ว แต่ด้วยความระมัดระวังมากขึ้นเป็นพิเศษ

และนอกจากยางสะท้อนแสงแล้ว เลยติดสติ๊กเกอร์สะท้อนแสงเพิ่มที่ซี่ล้อ และ รอบคันอีก ให้เห็นชัดๆ เข้าไปอีก

 


 

 



 

หวังว่าที่แชร์มานี้ ท่านจะได้รับประโยชน์นำไปประยุกต์นะครับ

 

ขอให้ทุกท่านปั่นปลอดภัย สนุก สุขภาพแข็งแรงนะครับ

Safety Tips: Biking in the City ปั่นจักรยานในเมือง

เห็นมีนักปั่นนิยมปั่นเล่นหรือปั่นมาทำงานในเมืองกันเยอะขึ้น ก็เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ขอแชร์บางเรื่องครับ (ส่วนใหญ่ applicable สำหรับปั่นจักรยานทั่วไปไม่ว่าในเมืองในป่าหรือที่ไหนก็ตามนะครับ)

อุปกรณ์ที่จำเป็น

หมวก – ไม่ต้องอธิบายนะ สำคัญสุด หาที่ได้มาตรฐาน เช่น CPSC (Consumer Product Safety Commission), ASTM F1447, Snell. เคยอ่านเจอว่าถ้าเคยล้มแล้วหมวกกระแทกพื้น ไม่ต้องเสียดายนะครับ ทำลายทิ้งซะแล้วซื้อใหม่ เพราะเราเบื่อใบเก่าอยู่แล้ว อยากได้ใหม่ เอ๊ย ไม่ใช่ครับ เพราะโครงสร้างข้างในได้รับผลกระทบจากการกระแทกทำให้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม ไม่ต้องเสียดายตังค์ครับ หัวเรามีค่ามากกว่าเยอะ อันนี้เคยมีประสบการณ์ตรง ราว 15 ปีที่แล้ว ปั่นลงสะพานข้ามคลองแล้วเลี้ยวซ้าย ช้าจัดด้วย ไม่ได้ปั่นเร็วเลย ค่อยๆ ปล่อยไหลลงไปด้วยซ้ำ เพราะยังเช้ามืดและเป็นทางลง ฝนก็ไม่ตก ถนนแห้ง แต่เราลืมสังเกตว่า มีรอยคล้ายน้ำเป็นทางอยู่ ล้อลื่นล้มตะแคงซ้ายแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวจริงๆ หัว (ที่ใส่หมวกไว้) ฟาดพื้นทางซ้าย เก็บคอไม่ทัน โชคดีที่ไม่มีรถทางตรงมา ปรากฎว่าไม่เป็นไรเพราะหมวกช่วยไว้ มาพบว่า รอยคล้ายน้ำนั้นคือน้ำที่หยดเป็นทางจากรถขยะที่เพิ่งผ่านไป ซึ่งก็แน่นอน น้ำขยะเป็นเมือกลื่นพอๆ กะน้ำคาวปลาแถวสมุทรสาครนั้นแหละ อีกอย่าง ปรับสายรัดคางให้พอดีด้วย ประมาณสอดนิ้วได้ 2 นิ้ว แน่นไปก็อึดอัด หลวมไปหมวกก็อาจหลุดไม่คุ้มครองกระโหลกเรา

ถุงมือ – ไม่ใช่เพียงแฟชั่น แต่เพื่อช่วยกริ๊ปและการควบคุม ปั่นไปนานๆ เหงื่อเราออก ถุงมือช่วยกันลื่น ช่วยลดแรงกระแทกบนฝ่ามือ เหมือนเป็น shock absorber นอกจากนั้น พลาดพลั้งล้มไปหรือเสียหลักจำเป็นต้องยึดเกาะอะไรบางอย่าง ถุงมือช่วยไม่ให้มืออันนิ่มนวลของเราถลอกปอกเปิกได้

แว่น – ช่วยป้องกันกรวด เศษผงเข้าตาเรา ควรใส่แว่นเสมอไม่ว่าปั่นจักรยานที่ใดเวลาใด มีแบบที่เปลี่ยนเลนส์ได้ด้วย ออกแดดก็สีเข้มกัน UV รุ่งสางกลางคืนโพล้เพล้ก็เปลี่ยนเป็นแบบใสได้ แว่นจักรยานสมัยนี้ขอบเลนส์มีรูระบายอากาศกันเป็นฝ้าด้วย เช่น ของ Rudy Project หรือ Oakley

ไฟฉาย – อย่างน้อยมีไฟหน้าติดแฮนด์ ไฟหลังติดหลักอาน นิยมที่ปรับได้ทั้งแสงธรรมดาและกระพริบ ทำให้เห็นชัดดี ขอแนะนำว่าเปิดไฟจักรยานทั้งกลางวันกลางคืนแหละครับ ไม่ต้องเปิดเฉพาะกลางคืน มอเตอร์ไซค์เขาคันใหญ่กว่าเราตั้งเยอะเขายังเปิดไฟทั้งวันทั้งคืนเลย เราเปิดไฟไว้คนขับรถขับมอร์ไซค์เขาจะได้เห็นเรา ไฟติดบนหมวกก็เข้าท่า มีสาย Velcro รัดกับหมวกแล้วก็มีที่สำหรับติดไฟชิ้นเดียวเป็นทั้งไฟหน้าไฟท้าย อยู่บนหัวก็สูงหน่อยผู้คนเห็นเราชัดดี เดี๋ยวนี้มีไฟแบบที่เป็น USB charge ได้ สว่างจัด ไม่ต้องใส่ถ่านแล้วทิ้งเป็นขยะกระทบสิ่งแวดล้อมอีกต่างหาก

เวลาปั่นกลางคืน ไฟหน้าควรเป็นสีขาวแบบสว่างตลอด ไม่ใช่กระพริบ เพราะประโยชน์หลักคือให้เราเห็นทางข้างหน้า เห็นหลุมบ่อ ฝาท่อระบายน้ำ ประโยชน์รอง คือ ให้รถที่สวนมาเห็นเรา ไฟหน้ากระพริบนั้นใช้เฉพาะเวลากลางวัน ให้รถที่สวนมาเห็นเรา ถ้ามาใช้กระพริบกลางคืน ปั่นๆ ไปอาจเวียนหัวได้

ส่วนไฟหลัง ควรเป็นสีแดงแบบกระพริบ  อันนี้ประโยชน์หลักอย่างเดียวคือให้ข้างหลังเห็นเรา

กระจกมองหลัง – ควรมีไว้อย่างยิ่ง อันเล็กๆ ติดที่ปลายแฮนด์ด้านขวา จะได้เห็นรถหลัง เวลาเราจะเลี้ยว จะเบี่ยง จะออกตัว

เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ

ยกขาซ้าย – เวลาเราชะลอชิดซ้ายปล่อยบันไดฟรี ควรยกบันไดซ้ายสูงสุดไว้ จะได้สูงพ้นไม่ชนฟุตปาธข้างซ้ายให้เราเสียหลักและเสียฟอร์ม แต่ถ้าขี่ MTB บน single track เวลาปล่อยฟรีมักนิยมซ้ายขวาสูงเสมอกันเพื่อป้องกันการเกี่ยวเศษไม้หินลอย ส่วนตัวผมนิยมเอาบันไดซ้ายไว้หน้า เพราะใส่ clipless เราถนัดขวาเวลาเราออกตัวใช้แรงดึงขึ้นจากขาขวาแล้วถีบไปข้างหน้าได้พลังมากกว่าถีบไปข้างหน้าอย่างเดียว ที่นักปั่นนิยมใช้บันได clipless ก็เพราะมีแรงดึงจากข้างหลังเพิ่มเติมจากแรงถีบไปข้างหน้าช่วยผ่อนแรงให้เราถีบเป็นวงกลมไม่ใช่ถีบลงอย่างเดียว แต่สำหรับมือ (เท้า) ใหม่ ต้องฝึกใส่ถอดให้คล่องเสียก่อน ไม่งั้นฉุกเฉินสบัดออกไม่ทัน ล้มเจ็บตัว และเสียฟอร์มเจ็บใจอีกต่างหาก

ปั่นช้า – ว่างๆ ลองนัดกันเพื่อแข่งกันปั่นช้าดู แข่งกันช้านะ ไม่ใช่แข่งความเร็ว เช่น กำหนดระยะไว้สัก 20 เมตร แล้วแข่งกันว่าใครจะไปถึงช้ากว่ากันโดยเท้าไม่แตะพื้น อันนี้เป็นการฝึกการทรงตัว เวลาเราปั่นในเมือง มีโอกาสต้องชะลอ ต้องหยุดไฟแดง หรือ ชะลอรอรถข้างหน้าที่ทำท่าจะจอด หรือ ทำท่าจะออกมา เราฝึกปั่นช้าไว้จะได้ทรงตัวได้ดีระหว่างรอจังหวะออกตัว เคยเห็นคนปั่น MTB บางคนเขาสามารถบีบเบรคไว้แล้วทรงตัวรอไฟแดงอยู่นิ่งๆ ได้โดยไม่ต้องใช้เท้ายันพื้นสักข้าง อันนี้ข้าพเจ้ายังไม่สามารถครับ

รอรถเมล์จอดป้าย – อันนี้คงทราบกันนะ แต่ก็ขอแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวที่ประมาทไปหน่อย ตอนขี่ MTB ออกถนนครั้งแรกราว 17-18 ปีที่แล้ว ก็ปั่นไปสนามหลวง พอไปถึงราชดำเนินแถวๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เห็นรถเมล์จอดป้าย ด้วยความเคยชินจากการขับรถ เราก็ปั่นแซงทันที พอแซงไปได้สักครึ่งคันรถเมล์ พี่แกก็เบนขวาออกจากป้ายไม่สนใจเราซักนิ้ด เบรคตัวโก่งและหักหลบขวาทันที ดีที่ไม่มีรถขวา จากนั้นมา จำใส่ใจ รถเมล์จอดป้ายเราก็จอดรอเขาเหอะ อย่ารีบร้อน และไม่ควรแซงซ้ายด้วย เด๋วชนคนขึ้นลงรถเมล์

อุปกรณ์อื่นๆ

ผ้า Buff – เรียกกันจนเป็น generic name แล้ว จุดเริ่มต้นมาจากยี่ห้อ Buff ของประเทศ Spain ซึ่งเป็นผ้าทรงท่อ (tube) ใช้งานได้สารพัดรูปแบบประมาณผ้าขาวม้าแบบนั้น สวมคอกันหนาว กันแดด โพกหัว พันข้อมือเป็น wrist band ไว้เช็ดเหงื่อเวลาวิ่ง ฯลฯ เดี๋ยวนี้มีมากมายหลายหลายยี่ห้อ ประโยชน์สำหรับนักปั่นคือ กันแดดที่คอและดึงขึ้นมาปิดหน้ากันแดดได้ด้วย รุ่นที่กัน UV ยิ่งดี อีกอย่างคือเวลาดึงมาปิดปากปิดจมูก ช่วยกันฝุ่นกันไอเสีย เวลาไปจอดหลังรถเมล์ตอนเขาเร่งเครื่องออกรถถ้าไม่มีผ้า buff ปิดปากปิดจมูกละก็ สูดเข้าไปเต็มๆ บางรุ่นมีแถบสะท้อนแสง 2 แถบด้วย หมุนผ้าให้แถบอยู่หน้าอันนึงหลังอันนึง ช่วยเรื่อง visibility ให้ผู้ร่วมทางเห็นเราได้ชัดขึ้น เพิ่มความปลอดภัยอีกต่างหาก บางรุ่นเห็นเขาโม้ว่าผ้าบางจัดสามารถดื่มน้ำจากกระติกน้ำทะลุผ้าได้โดยไม่ต้องดึงผ้าลง อันนี้ยังไม่เคยลอง บางรุ่นมีเจาะรูสองข้างไว้คล้องหูกันผ้าเลื่อนลงมาคออีก เคยลองใช้แต่ไม่ถนัดแฮะ เพราะของ buff ดั้งเดิมไม่ต้องคล้องหูก็ไม่เห็นมันจะเลื่อนลงมาเลย ก็ปิดปากปิดจมูกดีอยู่

กางเกงจักรยาน – ที่เขามีนวม (pad) บุไว้ด้านในก็เพื่อลดความบอบช้ำของบั้นท้ายเราจากการที่โดนอานกระแทกกระทั้น มีทั้งกางเกงจักรยานรัดรูปแบบปกตินุ่งตัวเดียวได้เลย และ กางเกงแบบบางหน่อยไว้ใส่เป็น lining ด้านในแล้วใส่ กางเกงปกติทับอีกที สำหรับท่านที่ใส่กางเกงจักรยาน ไม่ว่าผู้ชายผู้หญิง ขอบอกว่าไม่ต้องใส่ กกน. ไว้ข้างในนะครับ เพราะ (1) pad ที่เป็น chamois นั้นเขาทำไว้ให้ไม่มีตะเข็บและซับเหงื่อรับแรงกระแทก ถ้า กกน. เราเป็นแบบมีตะเข็บ ดันไปใส่ไว้ข้างในกางเกงจักรยาน ปั่นไปนานๆ ตะเข็บจะเป็นที่ระคายเคืองต่อผิวหนังอันแสนจะ sensitive บริเวณจุดซ้อนเร้นของเรา อาจเป็นผื่นหรือถลอกได้ และ (2) ผ้ากางเกงจักรยานที่ดีหน่อย เป็นผ้าที่ช่วยซับและระบายเหงื่อ แต่ กกน. เราที่ไม่ใช่เป็น กกน. สำหรับ sports ก็จะไม่ซับเหงื่อ ทำให้บั่นทอนประสิทธิภาพของผ้ากางเกงจักรยานซะอีก ใหม่ๆ นุ่งกางเกงจักรยานตัวเดียวไม่นุ่ง underwear อาจรู้สึกโหวงๆ แต่ไปๆ ก็จะชินไปเองแหละครับ

สายรัดขากางเกง – นักปั่นในเมืองที่ใส่ขายาวเช่นปั่นมาทำงาน หรือ commute ไปไหนมาไหน ระวังปลายขากางเกงไปพันกะโซ่หรืออื่นๆ อันตรายครับ แก้ไขได้สองอย่างคือ 1. ยัดปลายกางเกงไว้ในถุงเท้า หรือ 2. หาสายรัดที่มี Velcro มารัดปลายขากางเกงไว้ซะ หรือ แถบรัดแบบที่เป็นแผ่นบางๆ ปกติจะแบนๆ ตรงๆ พอเอามาพันขาก็จะม้วนตัวรัดขาเราไว้พอดี ไม่ทราบเหมือนกันว่าเขาเรียกแถบพวกนี้ว่าไง แต่พวกนี้มักเป็นสะท้อนแสงด้วย ช่วยเพิ่ม visibility ให้ปลอดภัยอีกต่างหาก ยิ่งพันตรงตาตุ่มเวลาถีบบันไดเคลื่อนไหวยิ่งทำให้รถราข้างหลังเห็นเราได้ชัดขึ้น สายรัดหรือแถบรัดสะท้อนแสงเนี่ย เวลาผมปั่นหรือออกไปวิ่งตอนนเช้ามืด หรือกลางคืน ผมจะใส่ไว้ตลอดให้ชาวบ้านเห็นเราได้ชัดๆ

ปลอกแขน – ถ้าเป็นรุ่นกัน UV ยิ่งดี ไว้กันแดดเวลาปั่นกลางวัน ส่วนเวลากลางคืน ถ้าใส่สีขาวก็ช่วยให้คนเห็นเราชัด บางยี่ห้อ ที่โลโก้เป็นสะท้อนแสงด้วย รุ่นที่ดีๆ หน่อย เวลาเราเกิดอุบัติเหตุยังช่วยป้องกันไม่ให้แขนถลอกปอกเปิก

อุปกรณ์ 4 รายการนี้ ถือเป็นอุปกรณ์เสริม เพื่อสุขภาพและความปลอดภัย เป็น optional มีก็ดี ไม่มีก็ได้ แต่ 5 รายการข้างบน หมวก ถุงมือ แว่น ไฟฉาย กระจกมองหลัง อันนี้ถือเป็น mandatory ต้องมีไว้นะครับ เพื่อความปลอดภัย

แถมเรื่องเบรคนิดนึง default คือเบรคขวาล้อหลังเบรคซ้ายล้อหน้า เขาทำไว้สำหรับคนถนัดขวา เวลาเบรคก็เริ่มจากมือขวาตามด้วยซ้ายติดๆ กัน อย่าเบรคข้างเดียว ถ้าเบรคขวาอย่างเดียวล้อหลังล็อคก็ท้ายปัด เบรคซ้ายอย่างเดียวล้อหน้าล็อค ก็จะเกิดอาการล้อหลังแซงล้อหน้าทางดิ่ง คือตีลังกาแหละครับ เสียฟอร์ม เจ็บตัว เสียตังค์ซื้อหมวกใบใหม่ที่เรากำลังเล็งไว้อีกต่างหาก ถ้าไปยืมรถชาวบ้านขี่หรือไปเช่าจักรยาน ก็เช็คก่อนนะครับ ว่าเบรคข้างไหนล้อหน้า ข้างไหนล้อหลัง บางทีเขาติดไว้ไม่เหมือน default ที่ว่า

การปั่นในเมืองก็ขอให้ปฏิบัติตามกฎจราจรนะครับ ชิดซ้าย รอติดไฟแดง เหมือนยานพาหนะอื่นไว้นะครับ ศึกษาสัญญาณมือสำหรับจักรยานไว้ด้วย

นอกจากนั้น ไม่ควรปั่นคนเดียว ถ้าให้ดีไปเป็นกลุ่ม หรือ อย่างน้อย 2 คนก็ยังดี ไปกันหลายคัน รถเห็นเราได้ชัดขึ้น และ หากเกิดอุบัติเหตุ เพื่อนช่วยเหลือกันได้

หากเกิดอุบัติเหตุ เช่น ถูกรถเฉี่ยวชน ก็ควรถ่ายรูปสถานที่ ถ่ายรูป คู่กรณี ทะเบียนรถ ใบขับขี่ บัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ฯลฯ ไว้ ถ้ามีพยานก็ขอชื่อขอเบอร์โทรเขาไว้ และ สังเกตว่าแถวนั้นมีกล้องวงจรปิด หรือ CCTV ไหม ถ้าในกรุงเทพฯ ก็มักมี CCTV ของ กทม. หรือ ของเอกชน จะได้หาเทปมาเป็นหลักฐานหากเป็นคดีความกัน

ถ้ามีทำประกันอุบัติเหตุไว้ หรือ มีบัตรประกันของบริษัท พกติดตัวไปด้วยเวลาไปปั่น อาจใส่กระเป๋าเล็กๆ แบบกระเป๋านามบัตร และ ใส่ซองพลาสติก Ziploc กันน้ำกันเหงื่อ ซอง Ziploc มีขายตามตลาด เช่น อตก. ขนาดที่เหมาะสมใช้ใส่มือถือ กันเหงื่อกันน้ำได้ด้วยเวลาไปปั่นจักรยาน หรือ ไปวิ่ง

ควรเขียนชื่อ นามสกุล เบอร์คนติดต่อกรณีฉุกเฉิน หมู่เลือด แพ้ยา ยาที่กินประจำ โรคประจำตัว รายละเอียดต่างๆ ติดตัวเราไว้ด้วย หรือ ทำเป็นบัตรเท่าๆ กับบัตรเครดิต แล้ว เคลือบพลาสติกติดตัวไว้ เช่น

Emergency Med ID - Thai  Emergeycy Med ID - Eng

ขอให้ทุกท่านปั่น สนุก ปลอดภัย สุขภาพแข็งแรงนะครับ