Safety Tips: Biking in the City ปั่นจักรยานในเมือง

เห็นมีนักปั่นนิยมปั่นเล่นหรือปั่นมาทำงานในเมืองกันเยอะขึ้น ก็เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย ขอแชร์บางเรื่องครับ (ส่วนใหญ่ applicable สำหรับปั่นจักรยานทั่วไปไม่ว่าในเมืองในป่าหรือที่ไหนก็ตามนะครับ)

อุปกรณ์ที่จำเป็น

หมวก – ไม่ต้องอธิบายนะ สำคัญสุด หาที่ได้มาตรฐาน เช่น CPSC (Consumer Product Safety Commission), ASTM F1447, Snell. เคยอ่านเจอว่าถ้าเคยล้มแล้วหมวกกระแทกพื้น ไม่ต้องเสียดายนะครับ ทำลายทิ้งซะแล้วซื้อใหม่ เพราะเราเบื่อใบเก่าอยู่แล้ว อยากได้ใหม่ เอ๊ย ไม่ใช่ครับ เพราะโครงสร้างข้างในได้รับผลกระทบจากการกระแทกทำให้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าเดิม ไม่ต้องเสียดายตังค์ครับ หัวเรามีค่ามากกว่าเยอะ อันนี้เคยมีประสบการณ์ตรง ราว 15 ปีที่แล้ว ปั่นลงสะพานข้ามคลองแล้วเลี้ยวซ้าย ช้าจัดด้วย ไม่ได้ปั่นเร็วเลย ค่อยๆ ปล่อยไหลลงไปด้วยซ้ำ เพราะยังเช้ามืดและเป็นทางลง ฝนก็ไม่ตก ถนนแห้ง แต่เราลืมสังเกตว่า มีรอยคล้ายน้ำเป็นทางอยู่ ล้อลื่นล้มตะแคงซ้ายแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวจริงๆ หัว (ที่ใส่หมวกไว้) ฟาดพื้นทางซ้าย เก็บคอไม่ทัน โชคดีที่ไม่มีรถทางตรงมา ปรากฎว่าไม่เป็นไรเพราะหมวกช่วยไว้ มาพบว่า รอยคล้ายน้ำนั้นคือน้ำที่หยดเป็นทางจากรถขยะที่เพิ่งผ่านไป ซึ่งก็แน่นอน น้ำขยะเป็นเมือกลื่นพอๆ กะน้ำคาวปลาแถวสมุทรสาครนั้นแหละ อีกอย่าง ปรับสายรัดคางให้พอดีด้วย ประมาณสอดนิ้วได้ 2 นิ้ว แน่นไปก็อึดอัด หลวมไปหมวกก็อาจหลุดไม่คุ้มครองกระโหลกเรา

ถุงมือ – ไม่ใช่เพียงแฟชั่น แต่เพื่อช่วยกริ๊ปและการควบคุม ปั่นไปนานๆ เหงื่อเราออก ถุงมือช่วยกันลื่น ช่วยลดแรงกระแทกบนฝ่ามือ เหมือนเป็น shock absorber นอกจากนั้น พลาดพลั้งล้มไปหรือเสียหลักจำเป็นต้องยึดเกาะอะไรบางอย่าง ถุงมือช่วยไม่ให้มืออันนิ่มนวลของเราถลอกปอกเปิกได้

แว่น – ช่วยป้องกันกรวด เศษผงเข้าตาเรา ควรใส่แว่นเสมอไม่ว่าปั่นจักรยานที่ใดเวลาใด มีแบบที่เปลี่ยนเลนส์ได้ด้วย ออกแดดก็สีเข้มกัน UV รุ่งสางกลางคืนโพล้เพล้ก็เปลี่ยนเป็นแบบใสได้ แว่นจักรยานสมัยนี้ขอบเลนส์มีรูระบายอากาศกันเป็นฝ้าด้วย เช่น ของ Rudy Project หรือ Oakley

ไฟฉาย – อย่างน้อยมีไฟหน้าติดแฮนด์ ไฟหลังติดหลักอาน นิยมที่ปรับได้ทั้งแสงธรรมดาและกระพริบ ทำให้เห็นชัดดี ขอแนะนำว่าเปิดไฟจักรยานทั้งกลางวันกลางคืนแหละครับ ไม่ต้องเปิดเฉพาะกลางคืน มอเตอร์ไซค์เขาคันใหญ่กว่าเราตั้งเยอะเขายังเปิดไฟทั้งวันทั้งคืนเลย เราเปิดไฟไว้คนขับรถขับมอร์ไซค์เขาจะได้เห็นเรา ไฟติดบนหมวกก็เข้าท่า มีสาย Velcro รัดกับหมวกแล้วก็มีที่สำหรับติดไฟชิ้นเดียวเป็นทั้งไฟหน้าไฟท้าย อยู่บนหัวก็สูงหน่อยผู้คนเห็นเราชัดดี เดี๋ยวนี้มีไฟแบบที่เป็น USB charge ได้ สว่างจัด ไม่ต้องใส่ถ่านแล้วทิ้งเป็นขยะกระทบสิ่งแวดล้อมอีกต่างหาก

เวลาปั่นกลางคืน ไฟหน้าควรเป็นสีขาวแบบสว่างตลอด ไม่ใช่กระพริบ เพราะประโยชน์หลักคือให้เราเห็นทางข้างหน้า เห็นหลุมบ่อ ฝาท่อระบายน้ำ ประโยชน์รอง คือ ให้รถที่สวนมาเห็นเรา ไฟหน้ากระพริบนั้นใช้เฉพาะเวลากลางวัน ให้รถที่สวนมาเห็นเรา ถ้ามาใช้กระพริบกลางคืน ปั่นๆ ไปอาจเวียนหัวได้

ส่วนไฟหลัง ควรเป็นสีแดงแบบกระพริบ  อันนี้ประโยชน์หลักอย่างเดียวคือให้ข้างหลังเห็นเรา

กระจกมองหลัง – ควรมีไว้อย่างยิ่ง อันเล็กๆ ติดที่ปลายแฮนด์ด้านขวา จะได้เห็นรถหลัง เวลาเราจะเลี้ยว จะเบี่ยง จะออกตัว

เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ

ยกขาซ้าย – เวลาเราชะลอชิดซ้ายปล่อยบันไดฟรี ควรยกบันไดซ้ายสูงสุดไว้ จะได้สูงพ้นไม่ชนฟุตปาธข้างซ้ายให้เราเสียหลักและเสียฟอร์ม แต่ถ้าขี่ MTB บน single track เวลาปล่อยฟรีมักนิยมซ้ายขวาสูงเสมอกันเพื่อป้องกันการเกี่ยวเศษไม้หินลอย ส่วนตัวผมนิยมเอาบันไดซ้ายไว้หน้า เพราะใส่ clipless เราถนัดขวาเวลาเราออกตัวใช้แรงดึงขึ้นจากขาขวาแล้วถีบไปข้างหน้าได้พลังมากกว่าถีบไปข้างหน้าอย่างเดียว ที่นักปั่นนิยมใช้บันได clipless ก็เพราะมีแรงดึงจากข้างหลังเพิ่มเติมจากแรงถีบไปข้างหน้าช่วยผ่อนแรงให้เราถีบเป็นวงกลมไม่ใช่ถีบลงอย่างเดียว แต่สำหรับมือ (เท้า) ใหม่ ต้องฝึกใส่ถอดให้คล่องเสียก่อน ไม่งั้นฉุกเฉินสบัดออกไม่ทัน ล้มเจ็บตัว และเสียฟอร์มเจ็บใจอีกต่างหาก

ปั่นช้า – ว่างๆ ลองนัดกันเพื่อแข่งกันปั่นช้าดู แข่งกันช้านะ ไม่ใช่แข่งความเร็ว เช่น กำหนดระยะไว้สัก 20 เมตร แล้วแข่งกันว่าใครจะไปถึงช้ากว่ากันโดยเท้าไม่แตะพื้น อันนี้เป็นการฝึกการทรงตัว เวลาเราปั่นในเมือง มีโอกาสต้องชะลอ ต้องหยุดไฟแดง หรือ ชะลอรอรถข้างหน้าที่ทำท่าจะจอด หรือ ทำท่าจะออกมา เราฝึกปั่นช้าไว้จะได้ทรงตัวได้ดีระหว่างรอจังหวะออกตัว เคยเห็นคนปั่น MTB บางคนเขาสามารถบีบเบรคไว้แล้วทรงตัวรอไฟแดงอยู่นิ่งๆ ได้โดยไม่ต้องใช้เท้ายันพื้นสักข้าง อันนี้ข้าพเจ้ายังไม่สามารถครับ

รอรถเมล์จอดป้าย – อันนี้คงทราบกันนะ แต่ก็ขอแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวที่ประมาทไปหน่อย ตอนขี่ MTB ออกถนนครั้งแรกราว 17-18 ปีที่แล้ว ก็ปั่นไปสนามหลวง พอไปถึงราชดำเนินแถวๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เห็นรถเมล์จอดป้าย ด้วยความเคยชินจากการขับรถ เราก็ปั่นแซงทันที พอแซงไปได้สักครึ่งคันรถเมล์ พี่แกก็เบนขวาออกจากป้ายไม่สนใจเราซักนิ้ด เบรคตัวโก่งและหักหลบขวาทันที ดีที่ไม่มีรถขวา จากนั้นมา จำใส่ใจ รถเมล์จอดป้ายเราก็จอดรอเขาเหอะ อย่ารีบร้อน และไม่ควรแซงซ้ายด้วย เด๋วชนคนขึ้นลงรถเมล์

อุปกรณ์อื่นๆ

ผ้า Buff – เรียกกันจนเป็น generic name แล้ว จุดเริ่มต้นมาจากยี่ห้อ Buff ของประเทศ Spain ซึ่งเป็นผ้าทรงท่อ (tube) ใช้งานได้สารพัดรูปแบบประมาณผ้าขาวม้าแบบนั้น สวมคอกันหนาว กันแดด โพกหัว พันข้อมือเป็น wrist band ไว้เช็ดเหงื่อเวลาวิ่ง ฯลฯ เดี๋ยวนี้มีมากมายหลายหลายยี่ห้อ ประโยชน์สำหรับนักปั่นคือ กันแดดที่คอและดึงขึ้นมาปิดหน้ากันแดดได้ด้วย รุ่นที่กัน UV ยิ่งดี อีกอย่างคือเวลาดึงมาปิดปากปิดจมูก ช่วยกันฝุ่นกันไอเสีย เวลาไปจอดหลังรถเมล์ตอนเขาเร่งเครื่องออกรถถ้าไม่มีผ้า buff ปิดปากปิดจมูกละก็ สูดเข้าไปเต็มๆ บางรุ่นมีแถบสะท้อนแสง 2 แถบด้วย หมุนผ้าให้แถบอยู่หน้าอันนึงหลังอันนึง ช่วยเรื่อง visibility ให้ผู้ร่วมทางเห็นเราได้ชัดขึ้น เพิ่มความปลอดภัยอีกต่างหาก บางรุ่นเห็นเขาโม้ว่าผ้าบางจัดสามารถดื่มน้ำจากกระติกน้ำทะลุผ้าได้โดยไม่ต้องดึงผ้าลง อันนี้ยังไม่เคยลอง บางรุ่นมีเจาะรูสองข้างไว้คล้องหูกันผ้าเลื่อนลงมาคออีก เคยลองใช้แต่ไม่ถนัดแฮะ เพราะของ buff ดั้งเดิมไม่ต้องคล้องหูก็ไม่เห็นมันจะเลื่อนลงมาเลย ก็ปิดปากปิดจมูกดีอยู่

กางเกงจักรยาน – ที่เขามีนวม (pad) บุไว้ด้านในก็เพื่อลดความบอบช้ำของบั้นท้ายเราจากการที่โดนอานกระแทกกระทั้น มีทั้งกางเกงจักรยานรัดรูปแบบปกตินุ่งตัวเดียวได้เลย และ กางเกงแบบบางหน่อยไว้ใส่เป็น lining ด้านในแล้วใส่ กางเกงปกติทับอีกที สำหรับท่านที่ใส่กางเกงจักรยาน ไม่ว่าผู้ชายผู้หญิง ขอบอกว่าไม่ต้องใส่ กกน. ไว้ข้างในนะครับ เพราะ (1) pad ที่เป็น chamois นั้นเขาทำไว้ให้ไม่มีตะเข็บและซับเหงื่อรับแรงกระแทก ถ้า กกน. เราเป็นแบบมีตะเข็บ ดันไปใส่ไว้ข้างในกางเกงจักรยาน ปั่นไปนานๆ ตะเข็บจะเป็นที่ระคายเคืองต่อผิวหนังอันแสนจะ sensitive บริเวณจุดซ้อนเร้นของเรา อาจเป็นผื่นหรือถลอกได้ และ (2) ผ้ากางเกงจักรยานที่ดีหน่อย เป็นผ้าที่ช่วยซับและระบายเหงื่อ แต่ กกน. เราที่ไม่ใช่เป็น กกน. สำหรับ sports ก็จะไม่ซับเหงื่อ ทำให้บั่นทอนประสิทธิภาพของผ้ากางเกงจักรยานซะอีก ใหม่ๆ นุ่งกางเกงจักรยานตัวเดียวไม่นุ่ง underwear อาจรู้สึกโหวงๆ แต่ไปๆ ก็จะชินไปเองแหละครับ

สายรัดขากางเกง – นักปั่นในเมืองที่ใส่ขายาวเช่นปั่นมาทำงาน หรือ commute ไปไหนมาไหน ระวังปลายขากางเกงไปพันกะโซ่หรืออื่นๆ อันตรายครับ แก้ไขได้สองอย่างคือ 1. ยัดปลายกางเกงไว้ในถุงเท้า หรือ 2. หาสายรัดที่มี Velcro มารัดปลายขากางเกงไว้ซะ หรือ แถบรัดแบบที่เป็นแผ่นบางๆ ปกติจะแบนๆ ตรงๆ พอเอามาพันขาก็จะม้วนตัวรัดขาเราไว้พอดี ไม่ทราบเหมือนกันว่าเขาเรียกแถบพวกนี้ว่าไง แต่พวกนี้มักเป็นสะท้อนแสงด้วย ช่วยเพิ่ม visibility ให้ปลอดภัยอีกต่างหาก ยิ่งพันตรงตาตุ่มเวลาถีบบันไดเคลื่อนไหวยิ่งทำให้รถราข้างหลังเห็นเราได้ชัดขึ้น สายรัดหรือแถบรัดสะท้อนแสงเนี่ย เวลาผมปั่นหรือออกไปวิ่งตอนนเช้ามืด หรือกลางคืน ผมจะใส่ไว้ตลอดให้ชาวบ้านเห็นเราได้ชัดๆ

ปลอกแขน – ถ้าเป็นรุ่นกัน UV ยิ่งดี ไว้กันแดดเวลาปั่นกลางวัน ส่วนเวลากลางคืน ถ้าใส่สีขาวก็ช่วยให้คนเห็นเราชัด บางยี่ห้อ ที่โลโก้เป็นสะท้อนแสงด้วย รุ่นที่ดีๆ หน่อย เวลาเราเกิดอุบัติเหตุยังช่วยป้องกันไม่ให้แขนถลอกปอกเปิก

อุปกรณ์ 4 รายการนี้ ถือเป็นอุปกรณ์เสริม เพื่อสุขภาพและความปลอดภัย เป็น optional มีก็ดี ไม่มีก็ได้ แต่ 5 รายการข้างบน หมวก ถุงมือ แว่น ไฟฉาย กระจกมองหลัง อันนี้ถือเป็น mandatory ต้องมีไว้นะครับ เพื่อความปลอดภัย

แถมเรื่องเบรคนิดนึง default คือเบรคขวาล้อหลังเบรคซ้ายล้อหน้า เขาทำไว้สำหรับคนถนัดขวา เวลาเบรคก็เริ่มจากมือขวาตามด้วยซ้ายติดๆ กัน อย่าเบรคข้างเดียว ถ้าเบรคขวาอย่างเดียวล้อหลังล็อคก็ท้ายปัด เบรคซ้ายอย่างเดียวล้อหน้าล็อค ก็จะเกิดอาการล้อหลังแซงล้อหน้าทางดิ่ง คือตีลังกาแหละครับ เสียฟอร์ม เจ็บตัว เสียตังค์ซื้อหมวกใบใหม่ที่เรากำลังเล็งไว้อีกต่างหาก ถ้าไปยืมรถชาวบ้านขี่หรือไปเช่าจักรยาน ก็เช็คก่อนนะครับ ว่าเบรคข้างไหนล้อหน้า ข้างไหนล้อหลัง บางทีเขาติดไว้ไม่เหมือน default ที่ว่า

การปั่นในเมืองก็ขอให้ปฏิบัติตามกฎจราจรนะครับ ชิดซ้าย รอติดไฟแดง เหมือนยานพาหนะอื่นไว้นะครับ ศึกษาสัญญาณมือสำหรับจักรยานไว้ด้วย

นอกจากนั้น ไม่ควรปั่นคนเดียว ถ้าให้ดีไปเป็นกลุ่ม หรือ อย่างน้อย 2 คนก็ยังดี ไปกันหลายคัน รถเห็นเราได้ชัดขึ้น และ หากเกิดอุบัติเหตุ เพื่อนช่วยเหลือกันได้

หากเกิดอุบัติเหตุ เช่น ถูกรถเฉี่ยวชน ก็ควรถ่ายรูปสถานที่ ถ่ายรูป คู่กรณี ทะเบียนรถ ใบขับขี่ บัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ ฯลฯ ไว้ ถ้ามีพยานก็ขอชื่อขอเบอร์โทรเขาไว้ และ สังเกตว่าแถวนั้นมีกล้องวงจรปิด หรือ CCTV ไหม ถ้าในกรุงเทพฯ ก็มักมี CCTV ของ กทม. หรือ ของเอกชน จะได้หาเทปมาเป็นหลักฐานหากเป็นคดีความกัน

ถ้ามีทำประกันอุบัติเหตุไว้ หรือ มีบัตรประกันของบริษัท พกติดตัวไปด้วยเวลาไปปั่น อาจใส่กระเป๋าเล็กๆ แบบกระเป๋านามบัตร และ ใส่ซองพลาสติก Ziploc กันน้ำกันเหงื่อ ซอง Ziploc มีขายตามตลาด เช่น อตก. ขนาดที่เหมาะสมใช้ใส่มือถือ กันเหงื่อกันน้ำได้ด้วยเวลาไปปั่นจักรยาน หรือ ไปวิ่ง

ควรเขียนชื่อ นามสกุล เบอร์คนติดต่อกรณีฉุกเฉิน หมู่เลือด แพ้ยา ยาที่กินประจำ โรคประจำตัว รายละเอียดต่างๆ ติดตัวเราไว้ด้วย หรือ ทำเป็นบัตรเท่าๆ กับบัตรเครดิต แล้ว เคลือบพลาสติกติดตัวไว้ เช่น

Emergency Med ID - Thai  Emergeycy Med ID - Eng

ขอให้ทุกท่านปั่น สนุก ปลอดภัย สุขภาพแข็งแรงนะครับ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s