Grandpa’s in the hospital 200326 – 200415

ช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ วันที่ 26 มีนาคม 2563 วันที่ พรก. ฉุกเฉิน เริ่มมีผลในประเทศไทย จนถึงวันนี้ วันที่ 15 เมษายน 2563 รวม 21 วันพอดี ผมก็มีความจำเป็นต้องฝ่าฝืนมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” โดยเฉพาะในส่วนของ “อยู่บ้าน” เพราะต้องขับรถออกจากบ้านทุกวันไม่ต่ำกว่าวันละ 2 รอบ ทั้งๆ ที่บางกรณีเขาจำแนกผมไว้ในกลุ่ม “ผู้เปราะบาง” คือผู้สูงอายุ 60+ แถมช่วงนี้ยังได้มีประสบการณ์ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวิกฤติที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือ เครื่อง ventilator ที่ใครๆ ก็พูดถึงว่าเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องจัดหาเพิ่มเติมเป็นการด่วนทั้งประเทศ และทั้งโลก เพื่อพยุงชีวิตผู้ป่วยวิกฤติที่ระบบหายใจไม่ทำงาน จากปอดอักเสบ/ปอดบวม อันเป็นผลมาจากการติดเชื้อ Coronavirus ที่มีชื่อเป็นทางการว่า COVID-19 ที่กำลังระบาดอย่างหนักไปทั่วโลก (pandemic)

เรื่องมีอยู่ว่า…

คุณปู่ (คือคุณปู่ของลูกผม) / คุณพ่อผม ซึ่งอีก 2 เดือนจะอายุครบ 95 ปี เพิ่งได้ออกจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นที่บ้านในวันนี้ วันที่ 15 เมษายน 2563 หลังจากอยู่โรงพยาบาล 21 วัน (ในนั้นเป็น ICU ซะ 7 วันแรก ที่เหลืออีก 14 วันในห้องปรกติ) เนื่องจากคุณปู่มีอาการหอบ หายใจไม่สะดวกเมื่อบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 26 มี.ค. 63 ก่อนหน้านั้นคืออังคารที่ 24/3 หลังอาหารเช้าอาเจียนนิดหน่อยแล้วก็มีไข้อ่อนๆ ได้ทาน Tylenol 1 เม็ด แล้วก็นอนพัก จากนั้นก็อาการดีขึ้น ไม่มีไข้ แต่ขับถ่ายน้อยลง วันพุธ 25/3 ก็ยังปกติดี สัปดาห์ก่อนหน้านั้นคือ พุธที่ 18/3 ไปพบแพทย์ที่ รพ. เพื่อฉีดยาลดความดันตา พฤหัสที่ 19/3 ก็ไปที่ รพ. อีกเพื่อแกะผ้าปิดตาออก แล้ววันศุกร์ที่ 20/3 ก็ไปตัดผมที่ร้านประจำ จริงๆ แล้วก็ขอร้องว่าไม่ต้องไปโรงพยาบาลเพราะมีความเสี่ยง แต่ก็ยืนยันจะไปเพราะถ้าไม่ไปฉีดยาตาตามรอบประจำ อาการสายตาจะแย่ลงเรื่อยๆ จนอาจทำให้มองไม่เห็น

จนบ่ายพฤหัสที่ 26/3 คุณพ่อหายใจไม่สะดวก หอบ ต้องหายใจทางปาก เลยตัดสินใจรีบพามาเข้า ER (Emergency Room – ห้องฉุกเฉิน) ที่โรงพยาบาล คุณหมอคุณพยาบาลก็รีบช่วย ด้วยการสอดท่อช่วยหายใจเข้าไปในปาก (ventilator) เครื่องมือแพทย์ที่ตอนนี้ใครๆ ก็พูดถึง เพราะเป็นเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วย COVID-19 ที่เชื้อเข้าปอดแล้วคนไข้เป็นปอดบวม/ปอดอักเสบ ไปรบกวนระบบทางเดินหายใจ เมื่อคุณพ่อเข้ามา รพ. ด้วยอาการระบบทางเดินหายใจแบบนี้ ก็เลยต้องซักประวัติเป็นการใหญ่ คุณหมอคุณพยาบาลแต่ละท่านก็ PPE เพียบ ทั้ง mask, face shield ถุงมือ ซึ่งก็เป็นธรรมดาเพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าคนไข้ที่มา ER แต่ละคนเป็นอะไรกันบ้าง แล้วก็ซักประวัติ ก็เลยเล่าให้ฟังว่าสัปดาห์ที่แล้วไปหาหมอที่ รพ. 2 ครั้ง ไปตัดผมครั้งนึง นอกนั้นอยู่บ้านตลอด คนใกล้ชิดก็ไม่ได้ไปไหน ผมและครอบครัวก็ไม่ได้ไปสถานที่เสี่ยงต่างๆ ไม่ได้ไปต่างประเทศปีกว่าแล้ว ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง ดูแล้วก็ไม่น่าจะใช่ COVID-19 เขาก็ถามว่าจะตรวจไหม แต่เนื่องจากไม่มีประวัติเสี่ยง ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ก็เลยบอกไปว่าตรวจเหอะ เพราะอาการก็คล้ายๆ ที่เรารับทราบกัน และการที่ไป รพ. เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็มีโอกาสรับเชื้อ ที่เรียกว่า Hospital-Acquired Infection (HAI) หรือ Health Care-Associated Infection (HCAI) ซึ่งเป็นเหตุผลที่ช่วงนี้ต้องงดผู้สูงอายุไป รพ. (ถ้าไม่ฉุกเฉินจำเป็นจริงๆ โดยถ้าต้องรับยาก็ให้ญาติหรือผู้อื่นไปรับแทน) จริงๆ ไม่ต้องผู้สูงอายุหรอก ช่วงนี้ไม่ว่าใครก็ไม่ควรไป รพ. นอกจากจำเป็นยิ่งยวดจริงๆ

จาก ER ก็ย้ายไปอยู่ห้อง ICU (Intensive Care Unit – หอผู้ป่วยวิกฤติ) วันแรกๆ ที่อยู่ ICU นอกจากหายใจไม่สะดวก ชีพจรเต้นเร็วและไม่สม่ำเสมอ ความดันสูงกว่าปกติ อัตราการใช้ออกซิเจนใช้ได้ อัตราการหายใจสูงกว่าปกติแล้ว คุณพ่อยังมีอาการท้องแข็ง ปริมาณเม็ดเลือดขาวสูง คุณหมอเจ้าของไข้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปอด นอกจากนั้นยังมีคุณหมอด้านลำไส้ คุณหมอด้านหัวใจ และคุณหมอประจำ ICU หมุนเวียนกันมารักษา เนื่องจากเม็ดเลือดขาวสูง และท้องแข็ง ขับถ่ายน้อยกว่าปกติ บวกกับไม่มีประวัติเสี่ยง อาการไม่บ่งชี้ไปยัง COVID-19 แต่บ่งชี้ไปยังการติดเชื้อแบคทีเรียซะมากกว่า ซึ่งอาจติดที่ลำไส้แล้วไปปอด หรือจากปอดไปลำไส้ก็เป็นได้ เพราะมีการปอดอักเสบบางส่วนด้วย ระหว่างนั้นก็ยังใช้เครื่องช่วยหายใจ (ventilator) อยู่ตลอดเพราะหายใจเองไม่ได้ ให้น้ำเกลือ ให้อาหารทางสายยาง แต่ก็ตอบสนองต่อการรักษาและยาดีขึ้นเป็นลำดับ ท้องนิ่มลง ลำไส้ทำงานดีขึ้น (จากที่วันแรกๆ ลำไส้ไม่ทำงานคือไม่เคลื่อนไหว) เม็ดเลือดขาวลงลด ไม่มีไข้ แสดงว่าเชื้อแบคทีเรียทะยอยลดลง

อาการก็ทรงๆ อยู่ ระหว่างนั้นก็รอผล Coronavirus ไปด้วย จนเย็นวันที่ 29/3 ซึ่งเป็นวันที่ 4 ใน ICU คุณพยาบาลก็แจ้งว่าได้ผล COVID-19 เป็นลบ ก็ค่อยสบายใจขึ้นบ้าง ว่าสรุปแล้วติดเชื้อแบคทีเรียจริงๆ

ก่อนหน้านั้น 1 วัน คือ 28/3 คุณหมอได้หรี่ ventilator และเริ่มให้หายใจเองร่วมกับเครื่อง พอ 29/3 ก็หรี่ ventilator ลงอีก เพิ่มหายใจเองอีก จน 30/5 ซึ่งเป็น Day 5 in ICU จึงได้ถอด ventilator ออก เปลี่ยนเป็นเครื่องช่วยหายใจแบบหน้ากากครอบปากจมูกแทน เข้าใจว่าเรียก BiPAP – Bilevel Positive Airway Pressure เครื่องช่วยหายใจที่ปรับความดันได้ทั้งหายใจเข้า Inhalation (IPAP) และ หายใจออก Exhalation (EPAP) คล้ายๆ กับเครื่อง CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) ที่ใช้บำบัดผู้มีอาการนอนกรน

พอถีงวันที่ 31/3 ซึ่งเป็น Day 6 in ICU ก็สามารถถอดเครื่อง BiPAP ออกได้ เปลี่ยนเป็นท่อออกซิเจนสอดทางจมูกแทน แบบที่มักเรียกกันว่าท่อหนวดกุ้ง หายใจเองได้ดี เริ่มให้อาหารอ่อน ก็ขับถ่ายได้ดี

ตลอดเวลานั้นก็ต้องผูกมือทั้งสองข้างไว้กับเตียงตลอด (โดยคุณพยาบาลนำฟอร์มมาให้ลงนามยินยอม) ถึงแม้ว่าจะรู้สึกตัวดีตลอด เพราะเกรงว่าอาจรำคาญแล้วระหว่างหลับๆ ตื่นๆ จะเผลอไปดึงท่อหายใจออกแล้วอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ที่น่าเห็นใจที่สุดคือคุณพ่อคงรำคาญมากที่ถูกผูกมือไว้ ถูกสอดท่อในปาก พูดก็ไม่ได้ แล้วก็ต้องนอนอยู่เฉยๆ หลายวัน ช่วงที่ถอดท่อออกแล้ว พอพูดได้ก็จะบ่นว่ารำคาญ บางครั้งก็นึกว่าอยู่ที่บ้าน ใน ICU เขาให้ญาติเยี่ยมได้ 3 ช่วง คือ เช้า บ่าย เย็น ตอนเริ่มพูดได้ก็จะถามโน่นถามนี่ บางครั้งเลยต้องกลับบ้านไปก่อนหมดเวลาเยี่ยมเพราะพออยู่ด้วยก็จะเรียกคุยและกระวนกระวายไม่ได้พัก ที่ทรมานใจมากคือตอนลาว่าจะกลับบ้านก่อนแล้วจะมาเยี่ยมใหม่ ก็จะเรียกไว้ไม่ให้ไป เป็นความรู้สึกเดียวกับตอนลูกยังเล็กๆ แล้วพ่อแม่จะออกไปทำงานก็จะถูกลูกเรียกไว้ไม่ให้ไป

ที่ผ่านมานี้ก็ผมเลยจำเป็นต้องละเรื่อง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ต้องออกจากบ้านมาเยี่ยมคุณพ่อด้วยความเป็นห่วงทุกวัน เช้า บ่าย-เย็น (คนอื่นในครอบครัวไม่ให้ไปเยี่ยม เพราะเสี่ยงติดเชื้อโรงพยาบาล) เกรงว่าคุณพ่อจะกระวนกระวายเพราะอยู่คนเดียว (ตามที่ทราบกันว่าไม่อนุญาตให้ญาตินอนเฝ้าใน ICU แต่จะจำกัดเวลาเยี่ยมเป็นช่วงๆ) พอจะเข้าบ้านก็ต้องเปลี่ยนชุดก่อนนอกตัวบ้าน แล้วรีบอาบน้ำสระผมทันที เกรงว่าตัวเราเองจะเจอ HAI / HCAI แล้วไปแพร่ครอบครัว แต่ที่ รพ. นี้ซึ่งเป็น รพ. เอกชน ก็มีการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อกันอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ รปภ. ที่ให้บัตรจอดรถใส่ทั้ง mask, face shield และ ถุงมือ ก่อนเข้าอาคารต้องผ่านจุดคัดกรอง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อน แล้วตรวจวัดอุณหภูมิ ติดสติกเกอร์ที่เสื้อ (สติกเกอร์สีตามวันเลย ตั้งแต่ พฤหัส-ส้ม, ศุกร์-ฟ้า, เสาร์-ม่วง, อาทิตย์-แดง, จันทร์-เหลือง, อังคาร-ชมพู, พุธ-เขียว) หน้าลิฟต์และในลิฟท์มีเจลแอลกอฮอล์ ในลิฟต์ตีเส้นและรูปเท้าให้ยืน social distancing หน้าห้องและในห้อง ICU แต่ละเตียงมีเจลแอลกอฮอล์ ช่วงแรกๆ ที่โรงพยาบาลนี้เขาเปลี่ยนชั้น 1 จาก OPD ทั่วๆ ไป เป็นพื้นที่สำหรับ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน Acute Respiratory Infection (ARI) เข้าใจว่าทั้งประวัติเสี่ยง COVID-19 และ อื่นๆ ที่อาการคล้ายกัน ถัดมาไม่กี่วันเขาก็ seal ปิดกั้นแยกโซนชั้น 1 เป็นเฉพาะ ARI อย่างเดียวเลย คนไข้อื่นๆ / เยี่ยมไข้ ให้เข้าออกชั้น 2 ที่มีทางเชื่อมกับอาคารจอดรถ

จนถึงเช้าวันที่ 4/1 ซึ่งเป็น Day 7 ของการอยู่ ICU คุณหมอก็บอกว่าดูอาการและสัญญาณต่างๆ แล้ว สามารถย้ายจากห้อง ICU ไปอยู่ห้องปรกติได้ พอช่วงบ่ายก็ได้ย้ายมาห้องปรกติ ใน ward ผู้ป่วยหัวใจ ตอนนี้ยังให้ออกซิเจนผ่านสายยางในจมูก แต่ก็หายใจเองได้ดีแล้ว ยังคงให้อาหารทางท่ออยู่ เนื่องจากยังมีเสมหะบ้าง อาการอื่นๆ โดยทั่วไปดีขึ้นเป็นลำดับ

คุณหมอที่ดูแลมี 3 ท่านด้วยกัน คือคุณหมอด้านปอด ซึ่งเป็นเจ้าของไข้ คุณหมอด้านหัวใจ และ คุณหมอด้านการติดเชื้อ ช่วงที่อยู่ ICU มีอีก 2 ท่านคือคุณหมอด้านลำไส้ และ คุณหมอประจำ ICU Ward

คาดว่าจากนี้น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนกลับบ้านได้ ก็โชคดีไปอย่างที่ต้นปีนี้เกษียณพอดี ไม่มีภาระกับการทำงาน ก็เลยสะดวกในการมาดูแลคุณพ่อ แต่ที่ไม่สะดวกก็คือต้องออกจากบ้านทุกวันและป้องกันระมัดระวังตัวอย่างเต็มที่ไม่ให้ตัวเองติดเชื้อแล้วไปแพร่ระบาดต่อ

Day 8 วันที่ 2 เมษายน ช่วงเช้ายังคงต้องให้อาหารทางท่ออยู่ ที่เรียกว่า Nasogastric (NG) Intubation & Feeding มื้อเที่ยงได้ทานโจ๊กปั่นครึ่งชาม ตอนเย็นกลับมาเป็น NG intubation & feeding ตามเดิม เป็นอย่างนี้ไปจนถึง Day 10 (04/04) แต่ละวันยังคงไอมากอยู่ และมีเสมหะมาก ต้องใช้เครื่องดูดเสมหะ (phlegm suction) ช่วง เช้าๆ สายๆ บ่ายๆ (ก่อนอาหารแต่ละมื้อ) และ ก่อนนอน นอกจากนั้นคุณปู่ยังมีอาการ A-Fib (Atrial Fibrillation) คือหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอเล็กน้อย

Day 11 – 5 เมษายน ถอดสายออกซิเจนได้ เพราะระดับออกซิเจนสูงกว่า 90 แล้ว ก็ได้ความรู้ใหม่ว่าคนปรกติทั่วไป มี atrial oxygen level 92 mm Hg ขึ้นไป บางทีก็เรียก SpO2 (peripheral capillary oxygen saturation) วัดด้วยเครื่อง fingertip pulse oximeter monitor เป็นอุปกรณ์เล็กๆ ใช้หนีบปลายนิ้ว วัด SpO2 & heart rate จำนวนเม็ดเลือดขาวก็ลดลงเป็นลำดับ จากแรกๆ ราว 25,000 มาเป็น 13,000 แสดงว่าการติดเชื้อที่ปอดน้อยลง

ในช่วงที่เริ่มป้อนโจ๊กปั่นได้ใหม่ๆ คุณปู่มีการไอ ก็เลยสลับด้วยป้อนน้ำเปล่า ปรากฎว่าไอหนักขึ้น ตามความเข้าใจก็คิดว่าน้ำเปล่าใสๆ น่าจะกลืนได้คล่องคอกว่าโจ๊ก แต่หลังจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องการกลืนมาตรวจคุณปู่ วันนี้เลยได้ความรู้ใหม่ ผู้สูงอายุที่เป็น dysphagia (ภาวะกลืนลำบาก/ปัญหาการกลืน) ในบางรายจะมีปัญหาในการกลืนน้ำ ! (น้ำเปล่าเนี่ยแหละ) คือการกลืนของเหลวใส (clear liquid) น้ำเปล่า ซุปใส แต่กลับกลืนของเหลวอื่นเช่นซุปข้น โจ๊ก ได้ พอกลืนน้ำเปล่าก็จะไอหรือสำลัก ซึ่งขัดกับความรู้สึกคนทั่วไปมาก เราจะคิดว่ากลืนน้ำเปล่าน่าจะง่ายสุดแล้ว หรือปกติเวลาเราไม่สบายเราจะกลืนอาหารอื่นลำบากแต่ดื่มน้ำเปล่าได้ สาเหตุของ dysphagia คือกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืนมีปัญหาหรืออ่อนแรง ดังนั้นก็เลยต้องใช้การเพิ่มความหนืดของของเหลวใส ซึ่งที่มีขายตามร้านขายยาใหญ่ๆ คือ ThickenUp ของเนสท์เล่ (ไม่ได้ค่าโฆษณา) ชื่อเต็มๆ คือ Nestle Resource ThickenUp ซึ่งเป็นสารเพิ่มความหนืด ผสมได้หลายระดับ เช่น 1 ช้อนต่อน้ำ 100 ml ก็จะหนืดแบบ nectar (น้ำหวาน) 2 ช้อนหนืดแบบน้ำผึ้ง 3 ช้อนหนืดแบบพุดดิ้งหรือโยเกิร์ตซึ่งเมื่อน้ำหนืดขึ้นแล้วก็จะกลืนได้ไม่สำลักหรือไอแบบดื่มน้ำเปล่าใสๆ น่าแปลกใจมาก

https://www.nestlehealthscience-th.com/health-management/aging/nhs_resource

อีกอย่างคือการกลืน ต้องก้มหน้า จะกลืนง่ายกว่าแหงนหน้า ก่อนอาหารแต่ละมื้อ ก็ต้องมีการบริหารกล้ามเนื้อด้านการกลืน คือลูบคอแถวๆ ลูกกระเดือกขึ้น กระตุ้นรอบๆ ปาก แลบลิ้นยาวๆ 10 ครั้ง แลบลิ้นแตะมุมปากซ้ายขวาข้างละ 10 ครั้ง ออกเสียง ลา ล่ะ 10 ครั้ง อู อี อา 10 ครั้ง นอกนั้นยังให้พูดออกเสียงเพื่อบริหาร ซึ่งง่ายสุดคือสวดมนต์ นะโมตัสสะฯ 3 จบโดยออกเสียงไม่ใช่สวดในใจ และเวลาตื่นอยู่ให้พยายามปิดปากและหายใจทางจมูกลึกๆ ยาวๆ

Day 13 – 7 เมษายน ช่วงสาย เริ่มมีการทำกายภาพบำบัด (rehabilitation) โดยใช้เครื่องสั่นปอด และบริหารแขนขาบนเตียง

จนวันรุ่งขึ้น Day 14 – 8 เมษายน ถึงให้ลุกขึ้นยืนด้วย walker ได้ วันนี้ยังคงมีไข้อ่อนๆ เป็นวันที่ให้ยาครบ dose คือ 14 วัน รุ่งขึ้นจะ X-ray ปอด การที่ยังมีไข้อยู่ เป็นไปได้ 2 อย่างคือ ไข้จากยาที่ให้ไป หรือ เชื้อยังไม่หมดดี ถ้าเป็นอย่างแรก ก็คาดว่าจะออกจากโรงพยาบาลได้วันที่ 10 เมษา

Day 15 – 9 เมษา เช้า X-ray ปอดและเจาะเลือด และเนื่องจากยังมีเสมหะมาก เผื่อได้กลับบ้าน จะต้องยังมีการดูดเสมหะ ก็เลยออกไปซื้อเครื่อง portable phlegm suction unit ของจีนยี่ห้อ Yuwell รุ่น 7E-A ราคาเกือบ 4,000 (ถ้าซื้อ online จะถูกกว่า แต่ไม่แน่ใจว่าจะจัดส่งให้ทันไหม) พร้อมทั้งสายดูดเสมหะ ก็มีหลายขนาด เลยซื้อเบอร์ 14 มา ซึ่งโดยทั่วไปถ้าดูดทางปากและเสมหะเหนียวก็โอเค แต่ถ้าเสมหะไม่เหนียว หรือดูดทางจมูกซึ่งประสิทธิภาพดีกว่า (ต้องใช้ทักษะของผู้เชี่ยวชาญ ถ้าไม่ใช่มืออาชีพควรดูดทางปาก) ก็ใช้เบอร์ 12 พร้อมทั้งถุงมือ ภายหลังถึงทราบว่าควรซื้อแบบเป็นชุด คือสายดูดเสมหะ (suction catheter) และถุงมือฆ่าเชื้อแล้วใน package เดียวกัน

แต่แล้ว พอช่วงบ่าย ก็ผิดหวัง เพราะปรากฎว่าปอดช่วงล่างที่ติดเชื้อตอนแรกมีอาการดีขึ้น แต่กลับมามีการติดเชื้อที่ปอดขวาด้านบนแทน มากพอสมควรทีเดียว ซึ่งเกิดจากตอนหลับอาจมีการไอหรือสำลัก ทำให้ติดเชื้อใหม่อีก เลยเก็บเสมหะไปเพาะเชื้อ และต้องอยู่โรงพยาบาลต่อไป เพื่อให้ยาฆ่าเชื้อ dose ใหม่ คาดว่าราว 7 วัน! 2 วันต่อมาก็ทราบผลเพาะเชื้อว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียอีกตัวนึง คนละตัวกับตัวแรก

Day 16 – 10 เมษา – Day 20 – 14 เมษา

อาการทะยอยดีขึ้น ไข้ลดลง เม็ดเลือดขาวลดลง แต่ยังมีเสมหะมาก อาหาร 3 มื้อยังเป็นโจ๊กปั่น ตามด้วยน้ำผลไม้และน้ำเปล่า ซึ่งยังคงต้องผสม ThickenUp มีการทำกายภาพบำบัดทุกวันเช้าบ่าย จากยืน ก็ค่อยๆ พยุงเดินด้วย walker ไปนั่งเก้าอี้ในห้อง ช่วงเย็นวันที่ 14 เมษา คุณหมอแจ้งว่าอาการดีขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าจะออกจากโรงพยาบาลได้บ่ายวันรุ่งขึ้น แต่ต้องเตรียมอุปกรณ์บางอย่างไปใช้ต่อที่บ้าน

Day 21 – 15 เมษายน ช่วงเช้าออกไปซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม คือ syringes ไว้หยอดน้ำเข้าปากเวลาดูดเสมหะ, fingertip pulse oximeter monitor ไว้วัด oxygen และ heart rate, blood pressure monitor (เคยมีอยู่อันแต่ไม่ค่อยได้ใช้เลยเสียไปแล้ว), contactless forehead thermometer (ซึ่งเผอิญวันนี้ของเพิ่งเข้ามาที่ร้านขายยาและอุปกรณ์การแพทย์ เดิมเห็นมีแต่แบบธรรมดา) ตอนเที่ยงคุณหมอเจ้าของไข้มาตรวจ และแจ้งว่าน่าจะกลับได้ แต่ต้องรอให้คุณหมอด้านติดเชื้อมาตรวจและ approve ก่อน พอช่วงเย็นคุณหมอด้านติดเชื้อมาตรวจ สรุปว่าให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ โดยต้องทานโจ๊กและน้ำผสม ThickenUp ไปสักหนึ่งสัปดาห์ก่อน จึงค่อยๆ ให้อาหารซึ่งข้นขึ้น ระหว่างนี้ ให้ตรวจอุณหภูมิ ความดัน ปริมาณออกซิเจน ทุกวัน ถ้าออกซิเจน 92+ ก็โอเค ถ้าต่ำหรืออาการพูดผิดปรกติไป ให้กลับมาพบหมอ ถ้าปรกติดีก็อีก 2 สัปดาห์กลับมา follow up และ X-ray ปอดอีกครั้ง

สรุปว่าอยู่โรงพยาบาลทั้งหมด 21 วัน เป็น ICU 7 วันและห้องปรกติ 14 วัน ถึงได้กลับมาพักฟื้นต่อที่บ้านเย็นวันนี้เอง

ได้ความรู้ใหม่อีกอย่างคือ กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ เข้าโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา 3 กองทุน (หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ) สามารถใช้สิทธิ์ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) ของ ศพฉ. (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) รักษาฟรี 72 ชั่วโมงแรก หรือ จนพ้นวิกฤติแต่ต้องเป็น รพ. คู่สัญญา ถ้าเตียง ICU ว่างและย้ายได้ ถ้าอยู่ รพ. เอกชนต่อก็ต้องชำระเอง รายละเอียดติดต่อ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง. หมายเลข 02-8721669

https://www.niems.go.th/1/News/Detail/5969?group=2

อ้อ ความหมายของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ คือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ  หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง   ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม  เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

21 Days of WFH and Losing 7 kg. along the Way

วันนี้ครบ 21 วันกับการ WFH กักตัวอยู่กับบ้าน กับน้ำหนัก 7 กก. ที่หายไป


วันนี้เป็นวันอังคารที่ 14 เมษายน 2563 ปีแรกในชีวิตที่มีการเลื่อนเทศกาลประเพณีสงกรานต์ออกไป
ตลอดเวลาที่กักตัวเองไว้ ผมสามารถบรรลุ OKR’s & KPI’s ทุกประการ จนได้รับคำชมเชยจากนายในช่วงการ video call ประจำวันเพื่อประชุม update ผลการดำเนินงานและแผนงานต่างๆ จากที่ผมเคยเงอะๆ งะๆ กับเทคโนโลยี เคยใช้เป็นแต่ e-mail กับ Line ตอนนี้ผมสามารถใช้งาน Microsoft Teams, Zoom, Slack, Google Drive, DropBox, EverNote, iCloud ฯลฯ ได้อย่างช่ำชอง แล้วยังรวมไปถึง TikTok ด้วย นี่ถ้ายังมี Jive อยู่ เราคงจะได้ใช้ Enterprise Social Collaboration Platform นี้เพื่อเพิ่ม productivity ได้อีกมากทีเดียวในการทำงานร่วมกันบนออนไลน์


นอกเหนือจากการทำงานต่างๆ ในความรับผิดชอบที่ได้รับการมอบหมายจนมีผลลัพธ์เกินคาดแล้ว ผมยังได้มีเวลาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์จาก free online courses ต่างๆ ใน Udemy, TED Talks, YouTube, Webinar, Facebook Live รวมถึง Thailand Coaching Academy by Jimi the Coach ด้วย นอกจากนี้ ผมยังได้ download บทความต่างๆ บางรายการที่เขาเปิดให้ download ฟรีช่วงนี้จาก Harvard Business Review และ MIT Sloan Management Review เพื่อมาศึกษาเพิ่มพูนความรู้ ทำให้ผมมั่นใจได้ว่า เมื่อพ้นวิกฤติการณ์นี้ไปแล้ว ผมจะมีความรู้ความสามารถที่เพิ่มพูนเพียบพร้อมขึ้นจนสามารถพุ่งทะยานเจริญเติบโตก้าวหน้าไปอย่างไร้ขีดจำกัด


ผมเข้านอนตอน 4 ทุ่มและตื่นตี 5 ทุกวันเพื่อนั่งสมาธิ แล้วออกไปวิ่งออกกำลังกายรอบๆ บ้านวันละ 5 กม. โดยฟัง audiobook ไปด้วยหรือบางวันก็ฟัง podcasts ผมสามารถหลีกเลี่ยงการกินน้ำตาล งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดทำให้ผมไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากการที่ทางการระงับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระยะนี้ และยังได้งดเครื่องดื่มที่มี caffeine ทุกชนิดได้โดยสิ้นเชิง ผมได้ eat clean ทุกมื้อพร้อมทั้ง low carb diet แกล้มกับพืชผักสวนครัวที่ปลูกไว้เองหลังบ้าน ไม่กิน red meat เลย บางวันยังได้ทำ IF อีกต่างหาก บ้านเราไม่จำเป็นต้องกักตุนอะไรเลยเพราะเราเลี้ยงไก่ไว้ฝูงหนึ่ง เลยมีไข่ไก่กินอย่างพอเพียงเพื่อเสริมโปรตีนร่วมกับปลาที่เราเลี้ยงไว้ในสระน้ำหน้าบ้าน แม้กระทั่งกระดาษชำระหรือที่บางคนเรียกทิชชูม้วนเราก็ไม่จำเป็นต้องกักตุน เพราะเรามีสิ่งประดิษฐ์มหัศจรรย์ที่เมืองไทยเราใช้กันอย่างแพร่หลาย (ยกเว้นสนามบินสุวรรณภูมิ) แต่ฝรั่งโลกตะวันตกไม่ค่อยจะรู้จักใช้กัน นั่นก็คือ “สายฉีดชำระ”


ผมพักกลางวันราว 11 โมงครึ่งเพื่อเปิดทีวีช่อง COVID-19 TV (NBT 2 HD) ฟังคุณหมอทวีศิลป์อัพเดทสถานการณ์รายวัน รวมทั้งเรื่องที่ประชาชนพึงปฏิบัติ ตามด้วยท่านรองฯ ณัฐภาณุ เพื่อเพิ่มพูนทักษะการฟังภาษาอังกฤษของผมไปด้วย


ผม workout ทุกเย็นโดยประยุกต์ใช้สิ่งของต่างๆ ในบ้านโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอุปกรณ์ในฟิตเนสที่ผมเป็นสมาชิกอยู่แต่ถูกปิดไปชั่วคราว ผมสามารถลดน้ำหนักลงได้ถึง 7 กก. ภายใน 21 วันที่ผ่านมา เมื่อเช้านี้ผมยิ้มให้กับตัวเองเมื่อส่องกระจกเห็นว่า ผม fit & firm ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พุงที่เคยยื่นออกมาถูกแทนที่ด้วย six-pack เป็นที่เรียบร้อย เอวลดลง 2 นิ้วจนสามารถหยิบกางเกงเก่าตัวโปรดที่แขวนซุกไวัด้านในสุดของตู้เสื้อผ้ามาใส่ได้อีกครั้ง


นอกจากนั้น ผมยังได้ยินภรรยาสุดที่รักชื่นชมผมว่าตอนนี้ผมกลับเป็นหนุ่มฟิตเปรี๊ยะเหมือนตอนเราแต่งงานใหม่ๆ และผมเองก็รู้สึกเหมือนเป็นหนุ่มขึ้นสักสิบปีทั้งร่างกายและจิตใจ ก่อนนอนทุกคืน ผมทำ self reflection และมีโอกาสได้ทำงานเชิงลึกกับตัวเอง ผมบอกตัวเองว่า ผมภูมิใจในตัวผมเองมาก เราทำได้แล้ว เราบรรลุเป้าหมายแล้ว และขอขอบคุณ COVID-19 ที่ทำให้ผมสามารถเอาเวลาที่เคยสูญเสียไปกับการเดินทางไปที่ทำงานและที่อื่นๆ มาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง


แน่นอนเหลือเกิน ผมไม่อาจทราบได้เลยว่าใครเป็นคนเขียนเรื่องราวข้างต้นไว้! แต่ผมขอคารวะและชื่นชมเขาอย่างจริงใจ ที่เขาสามารถสนุกกับการกักตัวตลอด 3 สัปดาห์และใช้เวลาให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ แสดงว่า เขารู้จักเลือกที่จะควบคุมการดำเนินการได้อย่างเหมาะสมในการตอบสนองกับเหตุการณ์ที่เขาไม่สามารถควบคุมได้ จนเกิดผลลัพธ์เหนือเป้าหมายที่เขาตั้งไว้ แสดงว่าเขาได้ดึงศักยภาพทรัพยากรภายในที่เขามีอยู่ เสมือนภูเขาน้ำแข็งในส่วนที่อยู่ใต้ผิวน้ำ มาใช้อย่างเต็มที่ ได้ลดความเชื่อความกลัวต่างๆ อันเป็นข้อจำกัดของเขาออกไป ได้ใช้คุณสมบัติดีๆ ที่มีอยู่ภายในตัวเขาคือ การมองโลกในแง่ดี พลิกวิกฤติเป็นโอกาสใฝ่เรียนรู้ มีความมุ่งมั่น มุมานะ ขยัน และมีวินัย ก็เลย copy ข้อความของเขามาแปะไว้ที่นี่
555 😜
เต้ย
๑๔ เมษา’ ๖๓