ช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ วันที่ 26 มีนาคม 2563 วันที่ พรก. ฉุกเฉิน เริ่มมีผลในประเทศไทย จนถึงวันนี้ วันที่ 15 เมษายน 2563 รวม 21 วันพอดี ผมก็มีความจำเป็นต้องฝ่าฝืนมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” โดยเฉพาะในส่วนของ “อยู่บ้าน” เพราะต้องขับรถออกจากบ้านทุกวันไม่ต่ำกว่าวันละ 2 รอบ ทั้งๆ ที่บางกรณีเขาจำแนกผมไว้ในกลุ่ม “ผู้เปราะบาง” คือผู้สูงอายุ 60+ แถมช่วงนี้ยังได้มีประสบการณ์ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวิกฤติที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือ เครื่อง ventilator ที่ใครๆ ก็พูดถึงว่าเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องจัดหาเพิ่มเติมเป็นการด่วนทั้งประเทศ และทั้งโลก เพื่อพยุงชีวิตผู้ป่วยวิกฤติที่ระบบหายใจไม่ทำงาน จากปอดอักเสบ/ปอดบวม อันเป็นผลมาจากการติดเชื้อ Coronavirus ที่มีชื่อเป็นทางการว่า COVID-19 ที่กำลังระบาดอย่างหนักไปทั่วโลก (pandemic)
เรื่องมีอยู่ว่า…
คุณปู่ (คือคุณปู่ของลูกผม) / คุณพ่อผม ซึ่งอีก 2 เดือนจะอายุครบ 95 ปี เพิ่งได้ออกจากโรงพยาบาลมาพักฟื้นที่บ้านในวันนี้ วันที่ 15 เมษายน 2563 หลังจากอยู่โรงพยาบาล 21 วัน (ในนั้นเป็น ICU ซะ 7 วันแรก ที่เหลืออีก 14 วันในห้องปรกติ) เนื่องจากคุณปู่มีอาการหอบ หายใจไม่สะดวกเมื่อบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 26 มี.ค. 63 ก่อนหน้านั้นคืออังคารที่ 24/3 หลังอาหารเช้าอาเจียนนิดหน่อยแล้วก็มีไข้อ่อนๆ ได้ทาน Tylenol 1 เม็ด แล้วก็นอนพัก จากนั้นก็อาการดีขึ้น ไม่มีไข้ แต่ขับถ่ายน้อยลง วันพุธ 25/3 ก็ยังปกติดี สัปดาห์ก่อนหน้านั้นคือ พุธที่ 18/3 ไปพบแพทย์ที่ รพ. เพื่อฉีดยาลดความดันตา พฤหัสที่ 19/3 ก็ไปที่ รพ. อีกเพื่อแกะผ้าปิดตาออก แล้ววันศุกร์ที่ 20/3 ก็ไปตัดผมที่ร้านประจำ จริงๆ แล้วก็ขอร้องว่าไม่ต้องไปโรงพยาบาลเพราะมีความเสี่ยง แต่ก็ยืนยันจะไปเพราะถ้าไม่ไปฉีดยาตาตามรอบประจำ อาการสายตาจะแย่ลงเรื่อยๆ จนอาจทำให้มองไม่เห็น
จนบ่ายพฤหัสที่ 26/3 คุณพ่อหายใจไม่สะดวก หอบ ต้องหายใจทางปาก เลยตัดสินใจรีบพามาเข้า ER (Emergency Room – ห้องฉุกเฉิน) ที่โรงพยาบาล คุณหมอคุณพยาบาลก็รีบช่วย ด้วยการสอดท่อช่วยหายใจเข้าไปในปาก (ventilator) เครื่องมือแพทย์ที่ตอนนี้ใครๆ ก็พูดถึง เพราะเป็นเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วย COVID-19 ที่เชื้อเข้าปอดแล้วคนไข้เป็นปอดบวม/ปอดอักเสบ ไปรบกวนระบบทางเดินหายใจ เมื่อคุณพ่อเข้ามา รพ. ด้วยอาการระบบทางเดินหายใจแบบนี้ ก็เลยต้องซักประวัติเป็นการใหญ่ คุณหมอคุณพยาบาลแต่ละท่านก็ PPE เพียบ ทั้ง mask, face shield ถุงมือ ซึ่งก็เป็นธรรมดาเพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าคนไข้ที่มา ER แต่ละคนเป็นอะไรกันบ้าง แล้วก็ซักประวัติ ก็เลยเล่าให้ฟังว่าสัปดาห์ที่แล้วไปหาหมอที่ รพ. 2 ครั้ง ไปตัดผมครั้งนึง นอกนั้นอยู่บ้านตลอด คนใกล้ชิดก็ไม่ได้ไปไหน ผมและครอบครัวก็ไม่ได้ไปสถานที่เสี่ยงต่างๆ ไม่ได้ไปต่างประเทศปีกว่าแล้ว ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง ดูแล้วก็ไม่น่าจะใช่ COVID-19 เขาก็ถามว่าจะตรวจไหม แต่เนื่องจากไม่มีประวัติเสี่ยง ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ก็เลยบอกไปว่าตรวจเหอะ เพราะอาการก็คล้ายๆ ที่เรารับทราบกัน และการที่ไป รพ. เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็มีโอกาสรับเชื้อ ที่เรียกว่า Hospital-Acquired Infection (HAI) หรือ Health Care-Associated Infection (HCAI) ซึ่งเป็นเหตุผลที่ช่วงนี้ต้องงดผู้สูงอายุไป รพ. (ถ้าไม่ฉุกเฉินจำเป็นจริงๆ โดยถ้าต้องรับยาก็ให้ญาติหรือผู้อื่นไปรับแทน) จริงๆ ไม่ต้องผู้สูงอายุหรอก ช่วงนี้ไม่ว่าใครก็ไม่ควรไป รพ. นอกจากจำเป็นยิ่งยวดจริงๆ
จาก ER ก็ย้ายไปอยู่ห้อง ICU (Intensive Care Unit – หอผู้ป่วยวิกฤติ) วันแรกๆ ที่อยู่ ICU นอกจากหายใจไม่สะดวก ชีพจรเต้นเร็วและไม่สม่ำเสมอ ความดันสูงกว่าปกติ อัตราการใช้ออกซิเจนใช้ได้ อัตราการหายใจสูงกว่าปกติแล้ว คุณพ่อยังมีอาการท้องแข็ง ปริมาณเม็ดเลือดขาวสูง คุณหมอเจ้าของไข้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปอด นอกจากนั้นยังมีคุณหมอด้านลำไส้ คุณหมอด้านหัวใจ และคุณหมอประจำ ICU หมุนเวียนกันมารักษา เนื่องจากเม็ดเลือดขาวสูง และท้องแข็ง ขับถ่ายน้อยกว่าปกติ บวกกับไม่มีประวัติเสี่ยง อาการไม่บ่งชี้ไปยัง COVID-19 แต่บ่งชี้ไปยังการติดเชื้อแบคทีเรียซะมากกว่า ซึ่งอาจติดที่ลำไส้แล้วไปปอด หรือจากปอดไปลำไส้ก็เป็นได้ เพราะมีการปอดอักเสบบางส่วนด้วย ระหว่างนั้นก็ยังใช้เครื่องช่วยหายใจ (ventilator) อยู่ตลอดเพราะหายใจเองไม่ได้ ให้น้ำเกลือ ให้อาหารทางสายยาง แต่ก็ตอบสนองต่อการรักษาและยาดีขึ้นเป็นลำดับ ท้องนิ่มลง ลำไส้ทำงานดีขึ้น (จากที่วันแรกๆ ลำไส้ไม่ทำงานคือไม่เคลื่อนไหว) เม็ดเลือดขาวลงลด ไม่มีไข้ แสดงว่าเชื้อแบคทีเรียทะยอยลดลง
อาการก็ทรงๆ อยู่ ระหว่างนั้นก็รอผล Coronavirus ไปด้วย จนเย็นวันที่ 29/3 ซึ่งเป็นวันที่ 4 ใน ICU คุณพยาบาลก็แจ้งว่าได้ผล COVID-19 เป็นลบ ก็ค่อยสบายใจขึ้นบ้าง ว่าสรุปแล้วติดเชื้อแบคทีเรียจริงๆ
ก่อนหน้านั้น 1 วัน คือ 28/3 คุณหมอได้หรี่ ventilator และเริ่มให้หายใจเองร่วมกับเครื่อง พอ 29/3 ก็หรี่ ventilator ลงอีก เพิ่มหายใจเองอีก จน 30/5 ซึ่งเป็น Day 5 in ICU จึงได้ถอด ventilator ออก เปลี่ยนเป็นเครื่องช่วยหายใจแบบหน้ากากครอบปากจมูกแทน เข้าใจว่าเรียก BiPAP – Bilevel Positive Airway Pressure เครื่องช่วยหายใจที่ปรับความดันได้ทั้งหายใจเข้า Inhalation (IPAP) และ หายใจออก Exhalation (EPAP) คล้ายๆ กับเครื่อง CPAP (Continuous Positive Airway Pressure) ที่ใช้บำบัดผู้มีอาการนอนกรน
พอถีงวันที่ 31/3 ซึ่งเป็น Day 6 in ICU ก็สามารถถอดเครื่อง BiPAP ออกได้ เปลี่ยนเป็นท่อออกซิเจนสอดทางจมูกแทน แบบที่มักเรียกกันว่าท่อหนวดกุ้ง หายใจเองได้ดี เริ่มให้อาหารอ่อน ก็ขับถ่ายได้ดี
ตลอดเวลานั้นก็ต้องผูกมือทั้งสองข้างไว้กับเตียงตลอด (โดยคุณพยาบาลนำฟอร์มมาให้ลงนามยินยอม) ถึงแม้ว่าจะรู้สึกตัวดีตลอด เพราะเกรงว่าอาจรำคาญแล้วระหว่างหลับๆ ตื่นๆ จะเผลอไปดึงท่อหายใจออกแล้วอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ที่น่าเห็นใจที่สุดคือคุณพ่อคงรำคาญมากที่ถูกผูกมือไว้ ถูกสอดท่อในปาก พูดก็ไม่ได้ แล้วก็ต้องนอนอยู่เฉยๆ หลายวัน ช่วงที่ถอดท่อออกแล้ว พอพูดได้ก็จะบ่นว่ารำคาญ บางครั้งก็นึกว่าอยู่ที่บ้าน ใน ICU เขาให้ญาติเยี่ยมได้ 3 ช่วง คือ เช้า บ่าย เย็น ตอนเริ่มพูดได้ก็จะถามโน่นถามนี่ บางครั้งเลยต้องกลับบ้านไปก่อนหมดเวลาเยี่ยมเพราะพออยู่ด้วยก็จะเรียกคุยและกระวนกระวายไม่ได้พัก ที่ทรมานใจมากคือตอนลาว่าจะกลับบ้านก่อนแล้วจะมาเยี่ยมใหม่ ก็จะเรียกไว้ไม่ให้ไป เป็นความรู้สึกเดียวกับตอนลูกยังเล็กๆ แล้วพ่อแม่จะออกไปทำงานก็จะถูกลูกเรียกไว้ไม่ให้ไป
ที่ผ่านมานี้ก็ผมเลยจำเป็นต้องละเรื่อง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ต้องออกจากบ้านมาเยี่ยมคุณพ่อด้วยความเป็นห่วงทุกวัน เช้า บ่าย-เย็น (คนอื่นในครอบครัวไม่ให้ไปเยี่ยม เพราะเสี่ยงติดเชื้อโรงพยาบาล) เกรงว่าคุณพ่อจะกระวนกระวายเพราะอยู่คนเดียว (ตามที่ทราบกันว่าไม่อนุญาตให้ญาตินอนเฝ้าใน ICU แต่จะจำกัดเวลาเยี่ยมเป็นช่วงๆ) พอจะเข้าบ้านก็ต้องเปลี่ยนชุดก่อนนอกตัวบ้าน แล้วรีบอาบน้ำสระผมทันที เกรงว่าตัวเราเองจะเจอ HAI / HCAI แล้วไปแพร่ครอบครัว แต่ที่ รพ. นี้ซึ่งเป็น รพ. เอกชน ก็มีการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อกันอย่างเต็มที่ ตั้งแต่ รปภ. ที่ให้บัตรจอดรถใส่ทั้ง mask, face shield และ ถุงมือ ก่อนเข้าอาคารต้องผ่านจุดคัดกรอง ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อน แล้วตรวจวัดอุณหภูมิ ติดสติกเกอร์ที่เสื้อ (สติกเกอร์สีตามวันเลย ตั้งแต่ พฤหัส-ส้ม, ศุกร์-ฟ้า, เสาร์-ม่วง, อาทิตย์-แดง, จันทร์-เหลือง, อังคาร-ชมพู, พุธ-เขียว) หน้าลิฟต์และในลิฟท์มีเจลแอลกอฮอล์ ในลิฟต์ตีเส้นและรูปเท้าให้ยืน social distancing หน้าห้องและในห้อง ICU แต่ละเตียงมีเจลแอลกอฮอล์ ช่วงแรกๆ ที่โรงพยาบาลนี้เขาเปลี่ยนชั้น 1 จาก OPD ทั่วๆ ไป เป็นพื้นที่สำหรับ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลัน Acute Respiratory Infection (ARI) เข้าใจว่าทั้งประวัติเสี่ยง COVID-19 และ อื่นๆ ที่อาการคล้ายกัน ถัดมาไม่กี่วันเขาก็ seal ปิดกั้นแยกโซนชั้น 1 เป็นเฉพาะ ARI อย่างเดียวเลย คนไข้อื่นๆ / เยี่ยมไข้ ให้เข้าออกชั้น 2 ที่มีทางเชื่อมกับอาคารจอดรถ
จนถึงเช้าวันที่ 4/1 ซึ่งเป็น Day 7 ของการอยู่ ICU คุณหมอก็บอกว่าดูอาการและสัญญาณต่างๆ แล้ว สามารถย้ายจากห้อง ICU ไปอยู่ห้องปรกติได้ พอช่วงบ่ายก็ได้ย้ายมาห้องปรกติ ใน ward ผู้ป่วยหัวใจ ตอนนี้ยังให้ออกซิเจนผ่านสายยางในจมูก แต่ก็หายใจเองได้ดีแล้ว ยังคงให้อาหารทางท่ออยู่ เนื่องจากยังมีเสมหะบ้าง อาการอื่นๆ โดยทั่วไปดีขึ้นเป็นลำดับ
คุณหมอที่ดูแลมี 3 ท่านด้วยกัน คือคุณหมอด้านปอด ซึ่งเป็นเจ้าของไข้ คุณหมอด้านหัวใจ และ คุณหมอด้านการติดเชื้อ ช่วงที่อยู่ ICU มีอีก 2 ท่านคือคุณหมอด้านลำไส้ และ คุณหมอประจำ ICU Ward
คาดว่าจากนี้น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ จนกลับบ้านได้ ก็โชคดีไปอย่างที่ต้นปีนี้เกษียณพอดี ไม่มีภาระกับการทำงาน ก็เลยสะดวกในการมาดูแลคุณพ่อ แต่ที่ไม่สะดวกก็คือต้องออกจากบ้านทุกวันและป้องกันระมัดระวังตัวอย่างเต็มที่ไม่ให้ตัวเองติดเชื้อแล้วไปแพร่ระบาดต่อ
Day 8 วันที่ 2 เมษายน ช่วงเช้ายังคงต้องให้อาหารทางท่ออยู่ ที่เรียกว่า Nasogastric (NG) Intubation & Feeding มื้อเที่ยงได้ทานโจ๊กปั่นครึ่งชาม ตอนเย็นกลับมาเป็น NG intubation & feeding ตามเดิม เป็นอย่างนี้ไปจนถึง Day 10 (04/04) แต่ละวันยังคงไอมากอยู่ และมีเสมหะมาก ต้องใช้เครื่องดูดเสมหะ (phlegm suction) ช่วง เช้าๆ สายๆ บ่ายๆ (ก่อนอาหารแต่ละมื้อ) และ ก่อนนอน นอกจากนั้นคุณปู่ยังมีอาการ A-Fib (Atrial Fibrillation) คือหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอเล็กน้อย
Day 11 – 5 เมษายน ถอดสายออกซิเจนได้ เพราะระดับออกซิเจนสูงกว่า 90 แล้ว ก็ได้ความรู้ใหม่ว่าคนปรกติทั่วไป มี atrial oxygen level 92 mm Hg ขึ้นไป บางทีก็เรียก SpO2 (peripheral capillary oxygen saturation) วัดด้วยเครื่อง fingertip pulse oximeter monitor เป็นอุปกรณ์เล็กๆ ใช้หนีบปลายนิ้ว วัด SpO2 & heart rate จำนวนเม็ดเลือดขาวก็ลดลงเป็นลำดับ จากแรกๆ ราว 25,000 มาเป็น 13,000 แสดงว่าการติดเชื้อที่ปอดน้อยลง
ในช่วงที่เริ่มป้อนโจ๊กปั่นได้ใหม่ๆ คุณปู่มีการไอ ก็เลยสลับด้วยป้อนน้ำเปล่า ปรากฎว่าไอหนักขึ้น ตามความเข้าใจก็คิดว่าน้ำเปล่าใสๆ น่าจะกลืนได้คล่องคอกว่าโจ๊ก แต่หลังจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องการกลืนมาตรวจคุณปู่ วันนี้เลยได้ความรู้ใหม่ ผู้สูงอายุที่เป็น dysphagia (ภาวะกลืนลำบาก/ปัญหาการกลืน) ในบางรายจะมีปัญหาในการกลืนน้ำ ! (น้ำเปล่าเนี่ยแหละ) คือการกลืนของเหลวใส (clear liquid) น้ำเปล่า ซุปใส แต่กลับกลืนของเหลวอื่นเช่นซุปข้น โจ๊ก ได้ พอกลืนน้ำเปล่าก็จะไอหรือสำลัก ซึ่งขัดกับความรู้สึกคนทั่วไปมาก เราจะคิดว่ากลืนน้ำเปล่าน่าจะง่ายสุดแล้ว หรือปกติเวลาเราไม่สบายเราจะกลืนอาหารอื่นลำบากแต่ดื่มน้ำเปล่าได้ สาเหตุของ dysphagia คือกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืนมีปัญหาหรืออ่อนแรง ดังนั้นก็เลยต้องใช้การเพิ่มความหนืดของของเหลวใส ซึ่งที่มีขายตามร้านขายยาใหญ่ๆ คือ ThickenUp ของเนสท์เล่ (ไม่ได้ค่าโฆษณา) ชื่อเต็มๆ คือ Nestle Resource ThickenUp ซึ่งเป็นสารเพิ่มความหนืด ผสมได้หลายระดับ เช่น 1 ช้อนต่อน้ำ 100 ml ก็จะหนืดแบบ nectar (น้ำหวาน) 2 ช้อนหนืดแบบน้ำผึ้ง 3 ช้อนหนืดแบบพุดดิ้งหรือโยเกิร์ตซึ่งเมื่อน้ำหนืดขึ้นแล้วก็จะกลืนได้ไม่สำลักหรือไอแบบดื่มน้ำเปล่าใสๆ น่าแปลกใจมาก
https://www.nestlehealthscience-th.com/health-management/aging/nhs_resource
อีกอย่างคือการกลืน ต้องก้มหน้า จะกลืนง่ายกว่าแหงนหน้า ก่อนอาหารแต่ละมื้อ ก็ต้องมีการบริหารกล้ามเนื้อด้านการกลืน คือลูบคอแถวๆ ลูกกระเดือกขึ้น กระตุ้นรอบๆ ปาก แลบลิ้นยาวๆ 10 ครั้ง แลบลิ้นแตะมุมปากซ้ายขวาข้างละ 10 ครั้ง ออกเสียง ลา ล่ะ 10 ครั้ง อู อี อา 10 ครั้ง นอกนั้นยังให้พูดออกเสียงเพื่อบริหาร ซึ่งง่ายสุดคือสวดมนต์ นะโมตัสสะฯ 3 จบโดยออกเสียงไม่ใช่สวดในใจ และเวลาตื่นอยู่ให้พยายามปิดปากและหายใจทางจมูกลึกๆ ยาวๆ
Day 13 – 7 เมษายน ช่วงสาย เริ่มมีการทำกายภาพบำบัด (rehabilitation) โดยใช้เครื่องสั่นปอด และบริหารแขนขาบนเตียง
จนวันรุ่งขึ้น Day 14 – 8 เมษายน ถึงให้ลุกขึ้นยืนด้วย walker ได้ วันนี้ยังคงมีไข้อ่อนๆ เป็นวันที่ให้ยาครบ dose คือ 14 วัน รุ่งขึ้นจะ X-ray ปอด การที่ยังมีไข้อยู่ เป็นไปได้ 2 อย่างคือ ไข้จากยาที่ให้ไป หรือ เชื้อยังไม่หมดดี ถ้าเป็นอย่างแรก ก็คาดว่าจะออกจากโรงพยาบาลได้วันที่ 10 เมษา
Day 15 – 9 เมษา เช้า X-ray ปอดและเจาะเลือด และเนื่องจากยังมีเสมหะมาก เผื่อได้กลับบ้าน จะต้องยังมีการดูดเสมหะ ก็เลยออกไปซื้อเครื่อง portable phlegm suction unit ของจีนยี่ห้อ Yuwell รุ่น 7E-A ราคาเกือบ 4,000 (ถ้าซื้อ online จะถูกกว่า แต่ไม่แน่ใจว่าจะจัดส่งให้ทันไหม) พร้อมทั้งสายดูดเสมหะ ก็มีหลายขนาด เลยซื้อเบอร์ 14 มา ซึ่งโดยทั่วไปถ้าดูดทางปากและเสมหะเหนียวก็โอเค แต่ถ้าเสมหะไม่เหนียว หรือดูดทางจมูกซึ่งประสิทธิภาพดีกว่า (ต้องใช้ทักษะของผู้เชี่ยวชาญ ถ้าไม่ใช่มืออาชีพควรดูดทางปาก) ก็ใช้เบอร์ 12 พร้อมทั้งถุงมือ ภายหลังถึงทราบว่าควรซื้อแบบเป็นชุด คือสายดูดเสมหะ (suction catheter) และถุงมือฆ่าเชื้อแล้วใน package เดียวกัน
แต่แล้ว พอช่วงบ่าย ก็ผิดหวัง เพราะปรากฎว่าปอดช่วงล่างที่ติดเชื้อตอนแรกมีอาการดีขึ้น แต่กลับมามีการติดเชื้อที่ปอดขวาด้านบนแทน มากพอสมควรทีเดียว ซึ่งเกิดจากตอนหลับอาจมีการไอหรือสำลัก ทำให้ติดเชื้อใหม่อีก เลยเก็บเสมหะไปเพาะเชื้อ และต้องอยู่โรงพยาบาลต่อไป เพื่อให้ยาฆ่าเชื้อ dose ใหม่ คาดว่าราว 7 วัน! 2 วันต่อมาก็ทราบผลเพาะเชื้อว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียอีกตัวนึง คนละตัวกับตัวแรก
Day 16 – 10 เมษา – Day 20 – 14 เมษา
อาการทะยอยดีขึ้น ไข้ลดลง เม็ดเลือดขาวลดลง แต่ยังมีเสมหะมาก อาหาร 3 มื้อยังเป็นโจ๊กปั่น ตามด้วยน้ำผลไม้และน้ำเปล่า ซึ่งยังคงต้องผสม ThickenUp มีการทำกายภาพบำบัดทุกวันเช้าบ่าย จากยืน ก็ค่อยๆ พยุงเดินด้วย walker ไปนั่งเก้าอี้ในห้อง ช่วงเย็นวันที่ 14 เมษา คุณหมอแจ้งว่าอาการดีขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าจะออกจากโรงพยาบาลได้บ่ายวันรุ่งขึ้น แต่ต้องเตรียมอุปกรณ์บางอย่างไปใช้ต่อที่บ้าน
Day 21 – 15 เมษายน ช่วงเช้าออกไปซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม คือ syringes ไว้หยอดน้ำเข้าปากเวลาดูดเสมหะ, fingertip pulse oximeter monitor ไว้วัด oxygen และ heart rate, blood pressure monitor (เคยมีอยู่อันแต่ไม่ค่อยได้ใช้เลยเสียไปแล้ว), contactless forehead thermometer (ซึ่งเผอิญวันนี้ของเพิ่งเข้ามาที่ร้านขายยาและอุปกรณ์การแพทย์ เดิมเห็นมีแต่แบบธรรมดา) ตอนเที่ยงคุณหมอเจ้าของไข้มาตรวจ และแจ้งว่าน่าจะกลับได้ แต่ต้องรอให้คุณหมอด้านติดเชื้อมาตรวจและ approve ก่อน พอช่วงเย็นคุณหมอด้านติดเชื้อมาตรวจ สรุปว่าให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้ โดยต้องทานโจ๊กและน้ำผสม ThickenUp ไปสักหนึ่งสัปดาห์ก่อน จึงค่อยๆ ให้อาหารซึ่งข้นขึ้น ระหว่างนี้ ให้ตรวจอุณหภูมิ ความดัน ปริมาณออกซิเจน ทุกวัน ถ้าออกซิเจน 92+ ก็โอเค ถ้าต่ำหรืออาการพูดผิดปรกติไป ให้กลับมาพบหมอ ถ้าปรกติดีก็อีก 2 สัปดาห์กลับมา follow up และ X-ray ปอดอีกครั้ง
สรุปว่าอยู่โรงพยาบาลทั้งหมด 21 วัน เป็น ICU 7 วันและห้องปรกติ 14 วัน ถึงได้กลับมาพักฟื้นต่อที่บ้านเย็นวันนี้เอง
ได้ความรู้ใหม่อีกอย่างคือ กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ เข้าโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา 3 กองทุน (หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ) สามารถใช้สิทธิ์ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) ของ ศพฉ. (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ) รักษาฟรี 72 ชั่วโมงแรก หรือ จนพ้นวิกฤติแต่ต้องเป็น รพ. คู่สัญญา ถ้าเตียง ICU ว่างและย้ายได้ ถ้าอยู่ รพ. เอกชนต่อก็ต้องชำระเอง รายละเอียดติดต่อ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง. หมายเลข 02-8721669
https://www.niems.go.th/1/News/Detail/5969?group=2
อ้อ ความหมายของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ คือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิตและระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต